วันอังคารที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2561

พระพุทธเจ้าใน ๓ ความหมาย


พระพุทธเจ้าใน ๓ ความหมาย

พระพุทธเจ้าเป็นสรณะที่ ๑ ในสรณะทั้ง ๓ พุทธศาสนิกชนจะประกอบพิธีกรรมอะไร ต้องตั้งนะโม ๓ จบก่อน เป็นการนอบน้อมแด่พระพุทธเจ้าผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง พระพุทธเจ้าเป็นที่เคารพบูชาอย่างยิ่งในฐานะที่พระองค์เป็นผู้ค้นพบพระธรรม แล้วได้นำมาเผยแผ่แก่มวลมนุษย์จนได้เป็นศาสดาเอกของโลก ในฐานะเป็นชาวพุทธเรารู้จักและเข้าถึงพระพุทธเจ้าได้ใน ๓ ความหมาย
๑.พระพุทธเจ้าในฐานะที่เป็นศาสดาเอกของโลก เป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ที่ได้อุบัติขึ้นมาจริงในโลก พระองค์สั่งสมบารมีบำเพ็ญธรรมอย่างยิ่งยวด จนได้ตรัสรู้ธรรมเป็นพระพุทธเจ้า แล้วได้นำหลักธรรมมาสั่งสอนแก่เวไนยสัตว์ ในฐานะที่เป็นศาสดาเอกของโลก พระองค์มีพระคุณ ๙ ประการ คือ
๑. อรหัง เป็นพระอรหันต์ คือ เป็นผู้บริสุทธิ์ ไกลจากกิเลส ทำลายสังสารจักรได้แล้ว เป็นผู้ควรแนะนำสั่งสอนผู้อื่น ควรได้รับความเคารพบูชา
๒. สัมมาสัมพุทโธ เป็นผู้ตรัสรู้ชอบเอง
๓. วิชชาจรณสัมปันโน เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชา คือความรู้ และจรณะ คือความประพฤติ
๔.สุคโต เป็นผู้เสด็จไปดีแล้ว คือ ทรงดำเนินพระพุทธจริยาให้เป็นไปโดยสำเร็จผลด้วยดี พระองค์เองก็ได้ตรัสรู้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญพุทธกิจก็สำเร็จประโยชน์ยิ่งใหญ่แก่ชนทั้งหลายในที่เสด็จไป และแม้ปรินิพพานแล้ว ก็ได้ประดิษฐานพระศาสนาไว้เป็นประโยชน์แก่มหาชนสืบมา
๕.โลกวิทู เป็นผู้รู้แจ้งโลก คือ ทรงรู้แจ้งสภาวะอันเป็นคติธรรมดาแห่งโลกคือสังขารทั้งหลาย ทรงหยั่งทราบอัธยาศัยสันดานแห่งสัตวโลกทั้งปวง ผู้เป็นไปตามอำนาจแห่งคติธรรมดาโดยถ่องแท้ เป็นเหตุให้ทรงดำเนินพระองค์เป็นอิสระ พ้นจากอำนาจครอบงำแห่งคติธรรมดานั้น และทรงเป็นที่พึ่งแห่งสัตว์ทั้งหลายผู้ยังจมอยู่ในกระแสโลกได้
๖. อนุตตโร ปุริสทัมมสารถิ เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ฝึกได้ ไม่มีใครยิ่งไปกว่า คือทรงเป็นผู้ฝึกคนได้ดีเยี่ยม ไม่มีผู้ใดเทียมเท่า
๗.สัตถา เทวมนุสสานัง เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
๘.พุทฺโธ เป็นผู้รู้ ผู้ตื่นและเบิกบานแล้ว คือ ทรงตื่นเองจากความเชื่อถือและข้อปฏิบัติทั้งหลายที่ถือกันมาผิด ๆ ด้วย ทรงปลุกผู้อื่นให้พ้นจากความหลงงมงายด้วย อนึ่ง เพราะไม่ติด ไม่หลง ไม่ห่วงกังวลในสิ่งใด ๆ มีการคำนึงประโยชน์ส่วนตน เป็นต้น จึงมีพระทัยเบิกบาน บำเพ็ญพุทธกิจได้ถูกต้องบริบูรณ์ โดยถือธรรมเป็นประมาณ การที่ทรงพระคุณสมบูรณ์เช่นนี้ และทรงบำเพ็ญพุทธกิจได้เรียบร้อยบริบูรณ์เช่นนี้ ย่อมอาศัยเหตุคือความเป็นผู้ตื่นและย่อมให้เกิดผลคือทำให้ทรงเบิกบานด้วย
๙. ภควา ทรงเป็นผู้มีโชค คือ จะทรงทำการใด ก็ลุล่วงปลอดภัยทุกประการหรือ เป็นผู้จำแนกแจกธรรม


อนึ่ง พระจิรยาวัตรของพระพุทธเจ้าที่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เรียกว่า พุทธจริยามี ๓ ประการ คือ

๑. โลกัตถจริยา พระจริยวัตรที่เป็นประโยชน์แก่สัตว์โลก เช่นการที่พระองค์เสด็จไปโปรดองคุลีมารให้รู้ธรรม โปรดนางปฏาจาราให้คลายจากความเศร้าโศกเสียใจจากการที่สูญเสีย สามี บุตร และบิดา-มารดา จนได้บรรลุธรรม เป็นต้น
๒. ญาตัตถจริยา พระจริยาวัตรที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่พระญาติเมื่อพระองค์ตรัสรู้แล้วได้เสด็จกรุงกบิลพัสดุ์ตามคำทูลของพระเจ้าสุทโธทนะได้แสดงธรรมโปรดพระประยูรญาติ ให้ได้บรรลุธรรม ออกบวชเป็นภิกษุ ภิกษุณี จำนวนมาก และการที่พระองค์ได้ทรงห้ามพระญาติฝ่ายบิดาและฝ่ายมารดาไม่ให้ทะเลาะกัน เรื่องแย่งน้ำทำนา จากแม่น้ำโรหิณี จนมีพระพุทธรูป ปางห้ามญาติ ขึ้น เป็นต้น
๓. พุทธัตถจริยา พระจริยวัตรที่ทรงบำเพ็ญประโยชน์ตามหน้าที่ของพระพุทธเจ้า คือ การที่พระองค์ได้แสดงธรรมโปรดเวไนยสัตว์ให้รู้ธรรม ยังพุทธบริษัท ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ให้ตั้งมั่นในพระพุทธศาสนา เป็นต้น
พุทธคุณและพุทธจริยาดังที่กล่าวมา เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าได้ปฏิบัติแก่โลก ยังมวลมนุษย์ และสรรพสัตว์ ให้รู้ธรรม บรรลุธรรม และพ้นทุกข์ เข้าถึงเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา พบทางอันเกษมแห่งชีวิต พระองค์จึงได้ชื่อว่า เป็นผู้ชี้ทางแก่คนหลงทาง ให้แสงสว่างแก่ผู้ที่อยู่ในที่มืด เปิดเผยสิ่งที่ปกปิดให้ปรากฎ พระองค์เป็นครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นศาสดาเอกของโลก นี้เป็นพระพุทธเจ้าในความหมายที่ ๑
๒. พระพุทธเจ้าในความหมายที่เป็นรูปเปรียบหรือพระพุทธรูป หลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไป ชาวพุทธได้สร้างพระพุทธขึ้นมาเป็นรูปเปรียบของพระพุทธเจ้า เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาเป็นสื่อในการเข้าถึงธรรมะ ในพระพุทธศาสนา พระพุทธรูปเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยพระเจ้ามิลินท์ หรือ เมนัดเดอร์ กษัตริย์เชื้อสายกรีก หรือโยนก ครองนครสาคละ ในอาณาจักรบากเตรีย แถบแคว้นคันธาระและปัญจาบตะวันตกเฉียงเหนือของชมพูทวีป พระองค์ทรงเป็นนักปราชญ์ได้โต้ตอบปัญหาธรรมกับพระนาคเสน แล้วทรงเลื่อมในพระพุทธศาสนา ตามเรื่องที่ปรากฏในมิลินทปัญหา สันนิษฐานว่าเป์นยุคแรก ที่มีการสร้างพระพุทธรูป
พระพุทธรูปในยุคสมัยคันธาระ มีลักษณะคล้ายมนุษย์มาก พระพักต์เอิบอิ่ม มวยพระเกศาเหนือพระเศียรดูอ่อนช้อยและงดงามยิ่ง ในสมัยต่อมาพระพุทธรูปหรือรูปเปรียบของพระพุทธเจ้าก็ได้เปลี่ยนแปลงไปตามยุคตามสมัย พระพุทธรูปที่เราบูชากราบไหว้ในประเทศไทยก็มีลักษณะแตกต่างกันไปในแต่ละยุค แต่ที่มีลักษณะเหมือนกันไม่เปลี่ยนแปลงนั้น มีอยู่ ๓ ประการคือ พระเศียรแหลม พระกรรณยาน และมีพระเนตรมองต่ำ สามารถตีความเป็นธรรมะได้คือ
พระเศียรแหลม หมายถึงให้ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต

พระกรรณยาน หมายถึง มีจิตใจหนักแน่นมั่นคง เชื่อในสิ่งที่ถูกต้องมีเหตุผล ไม่งมงาย เชื่อในกฎแห่งกรรม เชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
พระเนตรมองต่ำ หมายถึง ให้มองตนเอง ปรับปรุงตนเอง แก้ไขตนเอง และพัฒนาตนเอง
ชาวพุทธเมื่อกราบไหว้พระพุทธรูปเห็นพระลักษณะดังกล่าวแล้ว เตือนใจตนเอง ให้เข้าถึงธรรมะ นี้เป็นพระพุทธเจ้าในความหมายที่ ๒
๓. พระพุทธเจ้าในความหมาย ตาม “พุทธะ” ศัพท์ ซึ่งแปลว่า รู้ ตื่น เบิกบานด้วยธรรมะ พระพุทธเจ้าในความหมายนี้อยู่ที่ใจของมนุษย์ทุกคน ไม่จำเป็นต้องไปแสวงหาภายนอกให้ยุ่งยากลำบาก เมื่อใดที่มนุษย์ได้ปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าจนรู้แจ้งในธรรมอย่างถ่องแท้ ไม่ลังเลสงสัยในพระรัตนตรัย ใจสะอาด สว่าง สงบ พบพระธรรมแล้ว พุทธภาวะ ความรู้ ตื่น เบิกบานด้วยธรรมก็จะเกิดขึ้นที่ใจของผู้นั้นเอง ดังพุทธภาษิตที่ว่า


โย ธมฺมํ ปสฺสติ, โส มํ ปสฺสติ. ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา



พุทธภาวะ ในความหมายนี้ ไม่เหมือนกับพระพุทธรูป เพราะเมื่อเกิดมีแล้วไม่มีใครทำลายได้จะอยู่กับใจตลอดไป

จะเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าในฐานะเป็นบุคคลทางประวัติศาสตร์ เป็นศาสดาเอกของโลก พระองค์มีพระคุณอันยิ่งใหญ่มีพระจริยาวัตรที่เป็นแบบอย่างแก่ชาวโลก ชาวพุทธได้ศึกษาเรียนรู้พุทธประวัติแล้ว นำมาเป็นทิฏฐานุคติในการดำเนินชีวิตของตนให้ประเสริฐและดีงามได้ดังคำว่า ”ตามรอบบาทพระศาสดา”
พระพุทธเจ้าในฐานะที่เป็นรูปเปรียบหรือพระพุทธรูปเป็นจุดรวมแห่งศรัทธาศิลปะกรรมและปฏิมากรรมที่ทรงคุณค่าแฝงไว้ด้วยปริศนาธรรมเมื่อชาวพุทธกราบไหว้บูชาย่อมมีจิตใจตั้งมั่นเอิบอิ่ม เป็นบุญกุศลในชีวิตชีวิต

พระพุทธเจ้าที่เป็นพุทธภาวะ เป็นพระพุทธเจ้าที่อยู่กับตัวกับใจ มีความสำคัญยิ่ง ทุกคนสามารถเข้าถึงพระพุทธเจ้าในความหมายนี้ได้ ไม่จำกัดกาลเวลา สถานที่ หรือบุคคล
เมื่อพิจารณาเห็นพระพุทธเจ้าในสามความหมายแล้ว ก็ควรที่จะเข้าถึงพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง พระพุทธเจ้าตั้งอยู่ที่ใจ ที่สะอาด สว่าง สงบเย็น ปราศจากกิเลส ไม่ว่าพระพุทธเจ้าในความหมายใด สุดท้ายแล้วผู้ศรัทธาต้องเข้าถึงด้วยสัมมาทิฏฐิและการปฏิบัติธรรม อย่าเพียงไปยึดถือในวัตถุเลย เพราะวัตถุย่อมเป็นไปตามหลักความเป็นจริงของโลก คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ขอให้ถือเอาการปฏิบัติที่ถูกต้องตามพระธรรมเถิด แล้วพระพุทธเจ้าก็จะอยู่กับเราตลอดไป.


-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หนังสือประกอบในการเรียบเรียง
1. พระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬา (แปล) เล่มที่ 12,17,22,30,31 โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2539.
2. พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตโต) พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม,พิมพ์ครั้งที่ 6. โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2532.
3. พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตโต) พระพุทธศาสนาในอาเชีย,พิมพ์ครั้งที่ 2. ธรรมสภา, 2543.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

อนันตริยกรรม

อนันตริยกรรม สารานุกรมเสรีอนันตริยกรรม หมายถึง กรรม หนักที่สุด (ครุกรรม) ฝ่ายบาปอกุศล ซึ่งให้ผลทันที มี 5 อย่าง คือ มาตุฆาต - ฆ่ามารดา ปิตุ...