วันพฤหัสบดีที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ศีล ๕ การรักษา ความหมายของศีล ๕


ศีล ๕ การรักษา ความหมายของศีล ๕

ศีล 5 มีความหมายคือ


๑. เว้นจากทำลายชีวิต
๒. เว้นจากถือเอาของที่เขามิได้ให้
๓. เว้นจากประพฤติผิดในกาม
๔. เว้นจากพูดเท็จ
๕. เว้นจากของเมา คือ สุราเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท

อาราธนาศีล 5


(ถ้าคนเดียวเปลี่ยนจากคำว่า "มะยัง" เป็น "อะหัง" และ "ยาจามะ" เป็น "ยาจามิ")

มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะณัติถายะ
ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ
ทุติยันปิ มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะณัตยาถะ
ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ
ตะติยัมปิ มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะณัติยาถะ
ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ



ข้าแต่ ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอสมาทานศีล 5 พร้อมด้วยไตรสรณคมน์ เพื่อประโยชน์แห่งการรักษา เป็นข้อ ๆ คำสมาทาน ว่า

ปาณาติปาตา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ

(ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากการฆ่าสัตว์ด้วยตนเองและไม่ใช่ให้ผู้อื่นฆ่า)

อทินนาทานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ

(ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากการลัก ,ฉ้อ ของผู้อื่นด้วยตนเอง และไม่ใช่ให้ผู้อื่นลัก ฉ้อ)

กาเมสุมิจฺฉานารา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ

(ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากการประพฤติผิดในกาม)

มุสาวาทา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ

(ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากการพูดเท็จ คำไม่เป็นจริง และคำล่อลวง อำพรางผู้อื่น)

สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ

(ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท คือ เว้นจากการดื่มสุรา เมรัย เครื่องดองของทำใจให้คลั่งไคล้ต่าง ๆ )
อาราธนาศีล ๕

มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะณัตถายะ ติสะระเณนะ
สะหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ ฯ ทุติยัมปิ มะยัง ภันเต
วิสุง วิสุง รักขะณัตถายะ ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิ
ยาจามะ ฯ ตะติยัมปิ มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะณัต
ถายะ ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ ฯ
อาราธนาศีล ๘ ในวันพระก็แบบเดียวกัน ต่างกันแต่
เปลี่ยน " ปัญจะ" เป็น "อัฏฐะ" เท่านั้น

ศีล คือ ความปกติ และการรักษาศีลก็คือ ความตั้งใจรักษาปกติของตน อันเป็นหลักปฏิบัติที่ไม่ทำให้เดือดร้อน
แก่ตนเองและผู้อื่น และเป็นหลักแห่งความประพฤติที่จะทำให้เกิดความสะอาดทางกาย และวาจา ศีลมีหลายประเภท เช่น ศีล 5, ศีล 8, ศีล 10 ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้ปฏิบัติ แต่ศีลที่ควรกระทำเพื่อให้เกิดความปกติในสังคมก็คือ ศีล 5 เพราะสะดวก
และง่ายที่จะปฏิบัติ มีดังนี้ คือ


• พึงละเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต

• พึงละเว้นจากการลักขโมย ฉ้อฉล

• พึงละเว้นจากการประพฤติผิดในกาม

• พึงละเว้นจากการพูดเท็จ

• พึงละเว้นจากการดื่มเครื่องดองของเมา


ศีลทั้ง 5 ข้อนี้ เป็นหลักจำเป็นในสังคมมนุษย์ที่จะต้องปฏิบัติเพื่อให้เกิดความปกติ ทั้งในตนเองและสังคม เพราะช่วยควบคุมความประพฤติมิให้พลาดถลำลงในความชั่วอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงจัดอยู่ในระดับศีลธรรมอันเป็มูลฐานที่จะนำไปสู่ความสงบของจิตใจ ถ้าหากความสะอาดทางกายและวาจาไม่มีแล้ว เราก็ไม่สามารถทำจิตใจให้สงบได้สรุปได้ว่า ทางสายกลางข้อ 3-4-5 เป็นการปฏิบัติทางศีลเพื่อให้เกิดความปกติทางกายและวาจาเท่านั้น



เบญจศีล


ในการอยู่ร่วมกันในสังคมนั้น จำเป็นที่แต่ละคน ซึ่งเป็นสมาชิกของสังคมจะต้องทำตนให้เป็นคนเต็มคน ที่เรียกว่าเป็นมนุษย์ หรือเป็นคน 100% เพื่อให้การอยู่ร่วมกันดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย มีความสงบสุข เกิดศานติสุข ไม่มีเวรภัยต่อกันและกันหลักธรรมที่จะทำคนให้เป็นให้เต็มคนอันยังผลให้การอยู่ร่วมกันมีความสุขมีความสงบสุขนั้นก็คือ เบญจศีลเบญจธรรม อันได้แก่

ตอนที่ ๑ เนื้อความและความหมายเบญจศีล แปลว่า ศีล ๕ ได้แก่..

๑.ปาณาติปาตา เวรมณี เจตนาเป็นเครืองงดเว้นจากการฆ่า การเบียดเบียน การทำร้ายร่างกายคนและสัตว์ แล้วมีจิตใจประกอบด้วยเมตตากรุณา มีความปรารถนาดี และสงสารเห็นอกเห็นใจผู้อื่นสัตว์อื่น

๒.อทินนาทานา เวรมณี เจตนาเป็นเครืองงดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ด้วยอาการแห่งขโมยหรือโจร อันได้แก่ ลัก ฉก ชิง วิ่งราว ขู่กรรโชก ขู่เข็ญ ปล้น จี้ ตู่ ฉ้อโกง หลอก ลวง ปลอม ตระบัด เบียดบัง สับเปลี่ยน ลักลอบ ยักยอก และรับสินบน แล้วเป็นผู้มีความขยันประกอบสัมมาชีพ บริจาคทาน และเคารพในกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของผู้อื่น

๓.กาเมสุ มิจฉาจารา เวรมณี เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
บุคคลต้องห้ามสำหรับฝ่ายชาย คือ
(๑) ภรรยาคนอื่น
(๒) ผู้หญิงที่ยังอยู่ในความอุปการะของผู้อื่น (ต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่นอยู่)
(๓) ผู้หญิงที่จารีตต้องห้าม (แม่ ย่า ยาย พี่สาว น้องสาว ลูกสาว ชี หญิงผู้เยาว์

บุคคลที่ต้องห้ามสำหรับฝ่ายหญิง คือ
(๑) สามีคนอื่น
(๒) ชายจารีตต้องห้าม (พ่อ ปู่ ตา พี่ชาย น้องชาย ลูกชาย พระภิกษุ สามเณร ชายผู้เยาว์)

ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงไม่ใช่เฉพาะ ห้ามแต่ร่วมสังวาสเท่านั้น แม้แต่การเคล้าคลึง การพูดเกี้ยวพาราสี หรือการแสดงอาการ ปฏิพัทธ์แม้แต่ด้วยสายตาเนตรสบเนตร เป็นต้น ก็ชื่อว่า การละเมิดศีลข้อนี้แล้ว เมื่อไม่ล่วงละเมิดศีลข้อนี้แล้วเป็นผู้สำสวมในกามยินดีแต่ในภรรยาของตนเท่านั้น (สทารสันโดษ) จงรักภักดีแต่ในสามีของตน (ปติวัตร) ถ้ายังไม่ได้แต่งงานก็ต้องมีกามสังวร ตั้งตนอยู่ในขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงาม มีวัฒนธรรมอันดีชนิดที่ว่า "เข้าตามตรอกออกตามประตู"

๔.มุสาวาทา เวรมณี เจตนาเป็นเครืองงดเว้นจากการพูดเท็จ อันได้แก่คำปด ทวนสาบาน ทำเล่ห์กระเท่ห์ มารยา ทำกิเลส เสริมความสำรวมคำพูดเสียดแทง สับปลับ ผิดสัญยา เสียสัตย์ และคืนคำ แล้ว เป็นผู้รักสัจจะจะพูดแต่คำสัตย์จริงด้วยความจริงใจและปรารถนาดี มุ่งหวังดีต่อผู้ฟัง

๕.สุราเมรยะมัชชะปมาทัฏฐานา เวรมณี เจตนาเป็นเครืองงเว้นจากการดื่มน้ำเมาอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท อันได้แก่ น้ำสุรา เมรัย เครื่องดื่มมึนเมาอื่น ๆ และการเสพยาเสพติดอื่นๆ เช่น ฝิ่น เฮโรอีน กัญชา ยาบ้า หรือแม้แต่บุหรี่ แล้วเป็นผู้ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะในการประกอบกิจการทั้งปวง และเป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิตในการงาน ในวัย ในเพศ

ผู้จะเป็นคนเต็มคน คือ 100% จะต้องเป็นผู้มีการดำเนินชีวิตประจำวันที่ประกอบด้วยเบญจศีลเบญจธรรมทั้ง ๕ ประเด็นดังกล่าวแล้ว ถ้าขาด ๑ ประเด็นก็เป็นคนเพียง ๘๐ % หรือขาด ๒ ประเด็นก็เป็นคนเพียง ๖๐ % เป็น นับว่าเป็นหลักการขั้นพื้นฐานที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอน มุ่งเน้นให้พุทธศาสนิกชนได้ประพฤติปฏิบัติตาม เพื่อความเป็นมนุษย์อันจะได้เป็นสมาชิกที่ของสังคม ความสงบสุขในสังคมแต่ละวันจะเกิดขึ้นได้ก็อาศัยหลักมนุษยธรรม หรือ แต่ละคนเป็นคนเต็มคนนั่นเอง


อธิบายเบญจศีลอย่างย่อ ๆ


เบญจ แปลว่า ๕ ศีล แปลว่า ปกติ เบญจศีล จึงแปลว่า ปกติ ๕ อย่าง แปลว่า ตัด ก็ได้ เพราะตัด จากความชั่ว หรือมนุษยธรรมก็เรียก แปลว่า ธรรมสำหรับมนุษย์ หมายความว่า ธรรมที่ทำคนให้เป็นคนที่ควรแก่การเคารพนับถือความหมายของเบญจศีล
ความเป็นปกติของคน คือความเรียบร้อยสวยงามคนที่ไม่เรียบร้อยจะเป็นที่สวยงามไปไม่ได้ ได้แก่คนที่ผิดปกตินั้นเอง คนที่ไม่ปกตินั้นก็เป็นที่ผิดแปลกไปจากคนอื่น ๆ เช่น
- ปกติคนเราจะต้องไม่ฆ่ากัน ไม่ทำร้ายร่างกายกันเพราะคนก็ดี สัตว์ก็ดีต่างก็รักชีวิตของตนด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ประสงค์จะให้ใครมาฆ่าแกง หรือมาทำร้ายร่างกายตน หรือทรมานตนให้ได้รับความลำบาก คนที่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตของคนอื่น สัตว์อื่น จึงชื่อว่าคนผิดคน คือผิดปกติของคน
- ปกติคนเราจะต้องไม่ขโมยทรัพย์สมบัติของกันและกันเพราะใคร ๆ ก็ย่อมรัก ย่อมหวงแหนในทรัพย์สินของตน ไม่ประสงค์จะให้ใครมาเบียดเบียนและล่วงเกินในทรัพย์สินของตน คนที่ขโมยทรัพย์ของผู้อื่น จึงชื่อว่าทำผิดปกติของคนปกติของคนเราจะต้องไม่ล่วงละเมิดประเวณีของกันและกัน เพราะลูกใคร เมียใคร สามีใคร ใคร ๆ เขาก็หวง ไม่ประสงค์จะให้ใครมารับแกขมเหงน้ำใจ ลูกเมียสามีเปรียบเหมือนทรัพย์อันมีค่าของเขา คนที่รับแก ข่มเหงล่วงเกินผู้อื่น จึงชื่อว่าเป็นเป็นผู้ทำผิดปกติของคน
-ปกติของคนเราจะต้องไม่โกหกหลอกลวงกัน เพราะทุกคนไม่พึงปรารถนาจะให้ใครมาโกหกหลอกลวงตน ไม่ปรารถนาจะให้ใครมาหักรานประโยชน์ของตน ปรารถนาแต่ความสัตย์ความจริงด้วยกันทั้งสิ้น คนที่โกหกหลอกลวงผู้อื่นจึงชื่อว่าทำผิดปกติของคน
-ปกติของคนเราจะต้องรักษากายวาจาให้เรียบร้อย บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ร่างกายของตน ไม่ปรารถนาจะให้ร่างกายได้รับความลำบากด้วยทุกขเวทนาต่าง ๆ ทั้งพยายามเสริมสร้างร่างกายให้เจริญด้วยกำลังและสมบูรณ์ด้วยสติปัญญา จึงต้องงดเว้นจากการทำร้ายร่างกายตนเอง ด้วยการไม่ทำตนให้ผิดปกติ
คนที่ดื่มสุรา เมรัย และเสพของมึนเมาต่าง ๆ เช่น กัญชาและเฮโรอีน เป็นต้นจนกลายเป็นคนติดยาเสพติดให้โทษ เป็นคนขาดสติสัมปชัญญะ ตกอยู่ในฐานะแห่งความเป็นผู้ประมาท ชื่อว่าเป็นผู้ทำร้างร่างกายตนเอง จึงจัดว่าเป็นคนทำผิดปกติ

ศีล ๕ ประการนี้ ท่านเรียกว่า มนุษยธรรม แปลว่า ธรรมสำหรับมนุษย์ ธรรมทำให้คนเป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์,เป็นธรรมที่เป็นเหตุให้เกิดมาเป็นมนุษย์ เพราะ ผู้ที่จะมาเกิดเป็นมนุษย์ได้นั้น ต้องเป็นผู้ที่สมบูรณ์ด้วยมนุษยธรรมนี้มาก่อน การเกิดมาเป็นมนุษย์เป็นเรื่องที่ยากแท้ ดังพระพุทธดำรัสว่า"กิจฺโฉ มนุสฺสปฏิลาโภ การได้อัตภาพมาเป็นมนุษย์เป็นเรื่องยาก" เมื่อเราได้อัตภาพเกิดมาเป็นมนุษย์แล้วอย่างนี้ ไม่พยายามรักษาสภาพปกติไว้ ก็จะกลายเป็นผู้ทำลายปกติของตนเอง
ผู้ที่ล่วงละเมิดศีล จึงชื่อว่าเป็นผู้ทำลายมนุษยธรรม ผู้ที่ทำลายมนุษย์ธรรมชื่อว่าเป็นผู้ทำลายปกติของตนเองด้วยประการฉะนี้

ตอนที่ ๒ วิรัติ คือการงดเว้น


การรักษาศีล คือ การรักษากายวาจาให้เรียบร้อยเป็นปกติ, การปฏิบัติธรรม คือ การฝึกฝนอบรมจิตใจให้งดงาม, คนดีมีศีลธรรม คือ คนที่มีกายวาจาเรียบร้อยและมีจิตใจงดงาม
การรักษาศีลนั้นมี ๓ วิธี เรียกว่า วิรัติ คือ การงดเว้น ได้แก่

๑.สมาทานวิรัติ การงดเว้นด้วยการสมาทาน
๒.สัมปัตตวิรัติ การงดเว้นในขณะเผชิญหน้า
๓.สมุจเฉทวิรัติ การงดเว้นโดยเด็ดขาด

การที่จะรักษาศีลให้บริสุทธิ์หมดจดเรียบร้อย ต้องประกอบด้วยวิรัติ ๓ อย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

สมาทานวิรัติ ได้แก่การเปล่งวาจาขอสมาทานศีลจากพระภิกษุ สาม เณร หรือ จากบุคคลผู้มีศีลโดยการเปล่งวาจาขอสมาทานเป็นข้อ ๆ ไปดังนี้

๑.ปาณาติปาตา เวรมณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขา บท คือ เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ด้วยตนเอง และการใช้ให้คนอื่นฆ่า
ในสิกขาบทนี้ เป็นทั้งสาหัตถิกประโยค เพราะลงมือฆ่าด้วยตนเอง, เป็นทั้งอาณัติก ประโยค เพราะใช้ให้คนอื่นฆ่า

๒.อะทินนาทานา เวรมณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ ข้าพเจ้าขอสมา ทานสิกขาบท คือ เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการลักทรัพย์ด้วยตนเอง และใช้ให้คนอื่นลัก
ในสิกขาบทนี้ คำว่า "ทรัพย์" หมายเอาทั้งสวิญญาณกทรัพย์ ทรัพยที่มีวิญญาณครอง เช่น คน สัตว์ และ วิญญาณฏทรัพย์ ทรัพย์ที่ไม่มีวิญญาณครอง ได้แก่ วัตถุสิ่งของต่าง ๆ และหมายความรวมไปถึงสังหาริมทรัพย์ ทรัพย์ที่เคลื่อนที่ได้และอสังหาริมทรัพย์ ทรัพย์ที่เคลื่อนที่ไม่ได้ในสิกขาบทนี้ เป็นทั้งสาหัตถิกประโยค เพราะลักด้วยตนเอง, เป็นทั้งอาณัติกประโยค เพราะใช้ให้คนอื่นลัก

๓.กาเมสุ มิจฉาจารา เวรมณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ ข้าพเจ้าขอสมา ทานสิกขาบท คือ เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
ในสิกขาบทนี้ คำว่า "การประพฤติผิดในกาม" หมายถึงการร่วมประ เวณีในบุรุษและสตรีที่ไม่ใช่สามี-ภรรยาคู่ครองของตนเอง เช่น มารดาบิดาล่วงละเมิดกับบุตรธิดาของตนเอง หรือพี่ชายพี่สาวล่วงละเมิดกับน้องชายน้องสาวของตนเอง ก็เป็นการผิดประเวณีทั้งสิ้น
สิกขาบทนี้ เป็น สาหัตถิกประโยค เพราะผิดประเวณีด้วยตนเองอย่างเดียว ไม่เป็นอาณัติกประโยค เพราะใช้ให้คนอื่นผิดประเวณี

๔.มุสาวาทา เวรมณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือ เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการพูดปด พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ และ พูดเพ้อเจ้อ
ในสิกขาบทนี้ คำว่า "มุสาวาท" หมายความรวมไปถึง วจีทุจริต ๔ ประการ คือ การปด พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ และ พูดเพ้อเจ้อ การพูดปด ได้แก่ การพูดเท็จ หรือพูดให้คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ซึ่งเรียกว่า มุสาวาท
การพูดคำหยาบ ได้แก่ การด่าว่าคนอื่นให้ได้รับความอับอาย เรีบกว่า ผรุสวาจา
การพูดเพ้อเจ้อ ได้แก่ การพูดให้ไขว้เขว เหลวไหลไร้สาระ ทำให้เสียประโยชน์ของผู้อื่น เรียกว่า สัมผัปปลาปะสิกขาบทนี้ เป็นสาหัตถิกประโยค เพราะพูดด้วยตนเองอย่างเดียว ไม่เป็นอาณัติกประโยค เพราะให้ใช้คนอื่นพูด

๕.สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา เวรมณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือ เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทในสิกขาบทนี้ คำว่า "สุราและเมรัย" หมายถึง สุรา ๕ อย่าง และ เมรัย ๕ อย่าง ได้แก่

สุรา ๕ อย่าง ได้แก่

๑.ปิฏฐสุรา สุราทำด้วยแป้ง
๒.ปูวสุรา สุราทำด้วยขนม
๓.โอทนสุรา สุราทำด้วยข้าวสุก
๔.กิณณะปกะขิตตา สุราที่หมักเชื้อ
๕.สัมภาระสังยุตตา สุราที่ปรุงด้วยเครื่องเทศต่าง ๆ

เมรัย ๕ อย่าง ได้แก่

๑.ปุปผาสโว น้ำดองดอกไม้
๒.ผลาสโว น้ำดองผลไม้
๓.มธวาสโว น้ำดองน้ำผึ้ง หรือน้ำดองน้ำหวาน
๔.คุฬาสโว น้ำดองน้ำอ้อย
๕.สัมภาระสังยุตโต น้ำดองที่ปรุงด้วยเครื่องเทศต่าง ๆ

สิกขาบทนี้ เป็นสาหัตถิกประโยคเพราะดื่มหรือเสพด้วยตนเอง ไม่เป็นอาณัติกประโยค เพราะใช้ให้ผู้อื่นดื่มหรือเสพ

สัมปัตตวิรัติ ได้แก่การงดเว้นในขณะเมื่อเผชิญหน้ากับเหตุการณ์นั้น ๆ เช่น เกิดมีการต่อสู้กันขึ้น มีช่องทางพอที่จะฆ่าเขาได้ แต่ระลึกถึงศีลจึงไม่ฆ่า มีช่องทางพอที่จะโกงเขาได้แต่ไม่โกง มีช่องทางพอที่จะล่วงประเวณีได้แต่ไม่ล่วงประเวณี มีเหตุที่จะต้องให้โกหกเขาได้แต่ไม่โกหก มีโอกาสที่จะดื่มน้ำเมาได้ แต่ไม่ดื่มเพราะคำนึงถึงศีลดังกล่าวแล้ว อย่างนี้เป็นต้น เรียกว่า สัมปัตตวิรัติ แปลว่า งดเว้นได้ในขณะประจวบเข้าเฉพาะหน้า จัดเป็นผู้รักษาศีลเช่นเดียวกัน

สมุจเฉทวิรัติ ได้แก่ การงดเว้นโดยเด็ดขาด แม้อันตรายจะเข้ามาถึงชีวิตตนเอง ก็ไม่ล่วงละเมิดศีล เป็นวิรัติของพระอริยบุคคล ตัวอย่างเช่น ในกรณีที่ถูกบังคับให้ฆ่าคนอื่น ถ้าไม่ทำตนเองก็จะถูกฆ่า ก็ไม่ยอมฆ่าคนอื่นโดยเด็ดขาด ยอมให้เขาฆ่าตนเองดีกว่าที่จะล่วงละเมิดศีล ดังนี้เป็นต้น


ตอนที่ ๓ องค์แห่งศีล ๕


ในสิกขาบททั้ง ๕ นั้น ในแต่ละสิกขาบทมีองค์ประกอบต่าง ๆ กัน เมื่อครบองค์ศีลจึงขาด ถ้าไม่ครบองค์ศีลยังไม่ขาด เป็นแต่เพียงด่างพร้อยหรือบกพร่องไปบ้างเท่านั้น องค์แห่งศีลทั้ง ๕ นั้นมีดังต่อไปนี้

สิกขาบทที่ ๑

ปาณาติปาตา เวรมณี แปลว่า เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการทำสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วง หมายถึง เว้นจากการฆ่าสัตว์ สิกขาบทที่ ๑ นี้มีองค์ ๕ คือ


๑.สัตว์นั้นมีชีวิต
๒.รู้อยู่ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต
๓.มีเจตนาจะฆ่าสัตว์นั้น
๔.พยายามฆ่าสัตว์นั้น
๕.สัตว์นั้นตายด้วยความพยายามนั้น

การฆ่าที่ประกอบไปด้วยองค์ ๕ นี้ ไม่ว่าจะฆ่าเองหรือใช้ให้คนอื่นฆ่าก็ตาม ยุยงให้สัตว์อื่นฆ่ากันก็ตาม เช่น จัดให้จิ้งหรีดกัดกันจนตายไป เป็นต้น ศีลก็ขาดทั้งนั้น
สิกขาบทที่ ๑
ปาณาติปาตา เวรมณี แปลว่า เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการทำสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วง หมายถึง เว้นจากการฆ่าสัตว์
คำว่า"สัตว์"ในสิกขาบทที่ ๑ นี้ ท่านประสงค์เอาทั้งมนุษย์ชาย-หญิงทุกวัย จนที่สุดแม้กระทั่งที่ยังอยู่ในครรภ์ และสัตว์ดิรัจฉานทุกชนิด

สิกขาบทที่ ๑ นี้มีข้อห้ามไว้ ๓ ประการ ได้แก่

๑.การฆ่า
๒.การทำร้ายร่างกาย
๓.การทรกรรม

ในสิกขาบทที่ ๑ นี้ เป็นทั้งสาหัตถิกประโยค เพราะลงมือฆ่าด้วยตนเอง, เป็นทั้งอาณัติกประโยค เพราะใช้ให้คนอื่นฆ่า
การฆ่าโดยตรงศีลขาด, ส่วนการทำร้ายร่างกาย และการทรกรรม (ทรมาน) สัตว์ รวมเรียกว่า อนุโลมการฆ่า ศีลไม่ขาด เป็นแต่เพียงด่างพร้อยหรือศีลทะลุก็เรียก


การฆ่า
การฆ่า หมายถึง การทำให้ตาย แบ่งเป็น ๒ อย่าง ได้แก่


๑.ฆ่ามนุษย์
๒.ฆ่าสัตว์ดิรัจฉาน


การทำร้ายร่างกาย
การทำร้างร่ายกายนี้ ทางฝ่ายศาสนาถือเป็น "บุพพประโยคของการฆ่า" แบ่งออกเป็น ๓ สถาน ได้แก่

๑.การทำให้พิการ ได้แก่ การทำให้อวัยวะบางส่วนเสีย เช่น การทำให้ตาเสีย การทำให้แขนหรือขาเสีย เป็นต้น
๒.การทำให้เสียโฉม ได้แก่ การทำร้างร่างกายให้เสียรูปเสียงาม แต่ไม่ถึงกับให้พิการ เช่น
๓.การทำให้เจ็บลำบาก ได้แก่ การทำร้างร่างกายซึ่งไม่ถึงกับเสียโฉม แต่เสียความสำราญ เช่น ชกต่อย เฆี่ยนตี


การทรกรรม
ทรกรรม หมายถึง "การประพฤติเหี้ยมโหดแก่สัตว์โดยไม่ปรานี" จัดเป็น ๕ อย่าง ได้แก่

๑.ใช้การ ได้แก่ การใช้สัตว์เป็นพาหนะ อย่างไม่ปรานี มีแต่ใช้ ปล่อยให้อดอยาก ซูบผอม ไม่ให้พักผ่อนตามกาล หรือใช้เกินกำลังของสัตว์
๒.กักขัง ได้แก่ การเลี้ยงสัตว์ไว้ในกรงที่คับแคบเกินไป หรือผูกไว้เพื่อดูชมเล่น แต่ผู้เลี้ยงกักขัง หรือผูกมัดไว้จนไม่สามารถจะผลัดเปลี่ยนอิริยาบถได้ หรือไม่ปรนเปรอเลี้ยงดูให้สัตว์ได้รับความสุขพอสมควร ปล่อยให้อดอยาก เป็นต้น
๓.นำไป ได้แก่ การนำไปผิดอิริยาบถของสัตว์ สัตว์นั้นย่อมได้รับความลำบาก เช่น ผูกขาไก่หิ้วไป
๔.เล่นสนุก ได้แก่การนำสัตว์มาเล่นเพื่อความสนุก เช่นเอาประทัดผูกหางสุนัขแล้วจุดไฟ
๕.ผจญสัตว์ ได้แก่ การเอาสัตว์ให้ชนกันหรือกัดกัน เช่น ชนโค ชนไก่ กัดปลา เป็นต้น


สิกขาบทที่ ๒

อทินนาทานา เวรมณี เวรมณี แปลว่า "เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ด้วยอาการเป็นโจร"
สิ่งของที่เจ้าของไม่ให้ได้ในที่นี้ หมายถึงสิ่งของ ๒ อย่าง คือ

๑.สิ่งของที่มีเจ้าของ ทั้งที่มีวิญญาณ ซึ่งเรียกว่า สวิญญาณกทรัพย์ และที่ไม่มีวิญญาณ เรียกว่า อวิญญาณกทรัพย์
๒.สิ่งของที่ไม่ใช่ของใคร แต่มีผู้รักษาหวงแหน เช่น สิ่งของที่เป็นของสงฆ์ ของสโมสร ของส่วนรวม เป็นต้น

ในสิกขาบทที่ ๒ นี้ จึงมีข้อห้ามเป็น ๓ อย่าง ได้แก่

๑.โจรกรรม
๒.ความเลี้ยงชีพอนุโลมโจรกรรม
๓.กิริยาเป็นฉายาโจรกรรม

๑.โจรกรรม
โจรกรรม ได้แก่ "กิริยาที่ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ด้วยอาการเป็นโจร" มี ๑๔ ประเภท ได้แก่
๑.ลัก ได้แก่"กิริยาที่ถือเอาสิ่งของด้วยอาการเป็นโจรในเวลาที่เงียบไม่ให้เจ้าของรู้" มี ๓ ลักษณะ คือ
ก.เมื่อเจ้าของเขาเผลอก็หยิบเอาสิ่งของนั้นไป เรียกว่า "ขโมย"
ข.เวลาสงัดคนแอบเข้าไปในเรือนแล้วหยิบเอาสิ่งของของเขาเรียกว่า"ย่องเบา"
ค.งัดหรือเจาะประตู-หน้าต่างที่ปิดอยู่แล้วถือเอาสิ่งของของเขาเรียกว่า "ตัดช่อง"
๒.ฉก ได้แก่ กิริยาที่ถือเอาสิ่งของในเวลาที่เจ้าของเขาเผลอ เช่น
วิ่งราว หมายถึง เจ้าของเขาเผลอก็เข้าแย่งเอาแล้ววิ่งหนีไป หรือ
ตีชิง หมายถึง ตีเจ้าของให้เจ็บแล้วถือเอาสิ่งของ
๓.กรรโชก ได้แก่ กิริยาที่แสดงอำนาจให้เจ้าของตกใจกลัวแล้วยอมให้สิ่งของ
๔.ปล้น ได้แก่ กิริยาที่ยกพวกตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไปข่มขู่เจ้าทรัพย์แล้วถือเอาสิ่งของของคนอื่นไป
๕.ตู่ ได้แก่ กิริยาที่ร้องเอาสิ่งของขงอผู้อื่นซึ่งมิได้ตกอยู่ในมือตนเอง
๖.ฉ้อ ได้แก่ กิริยาที่ถือเอาสิ่งของของผู้อื่นที่ตกอยู่ในมือตนเอง
๗.หลอก ได้แก่ กิริยาที่ถือเอาสิ่งของของผู้อื่นโดยการพูดจาหลอกลวงหรือโกหกเอา (ปั้นเรื่องขึ้นให้เจ้าทรัพย์หลงเชื่อแล้วจึงถือเอาทรัพย์ของเขาไป)
๘.ลวง ได้แก่ กิริยาที่ถือเอาสิ่งของของผู้อื่นด้วยการแสดงของอย่างใดอย่างหนึ่งให้เขาเข้าใจผิด (ใช้เพทุบายลวงให้เขาหลงเชื่อ)
๙.ปลอม ได้แก่ กิริยาที่ทำของไม่แท้ให้เห็นว่าเป็นของแท้ขึ้นเปลี่ยนเอาสิ่งของดีหรือ ของแท้ของเขาไป (ทำของปลอมขึ้นเปลี่ยนเอาของแท้ของเขา)
๑๐.ตระบัด ได้แก่ กิริยาที่ยืมสิ่งของของเขาไปแล้วถือเอาเป็นของตนเอง ไม่ส่งคืน (การยืมของเขาแล้วไม่ส่งคืนเจ้าของเดิม โดยยึดถือเอาเป็นของตัวเองไป)
๑๑.เบียดบัง ได้แก่ กิริยาที่ถือเอาเศษ เช่น เก็บเงินค่าเช่าได้มาก แต่ให้เจ้าของแต่เพียงน้อย ๆ(กินเศษกินเลยเล็ก ๆ น้อย ๆ)
๑๒.สัปเปลี่ยน ได้แก่ กิริยาที่ถือเอาสิ่งของของตนที่เลวเข้าไปไว้แทน แล้วเอาของที่ดีของผู้อื่นไปเสีย (เอาของที่ไม่ดีไปเปลี่ยนเอาของที่ดีของเขา)
๑๓.ลักลอบ ได้แก่ กิริยาที่ถือเอาสิ่งของต้องพิกัดซ่อนเข้ามาโดยไม่เสียภาษี, ค้าของหนีภาษี, ลักลอบขนของหนีภาษี เป็นต้น)
๑๔.ยักยอก ได้แก่ กิริยาที่ยักยอกทรัพย์ของตนที่จะต้องถูกยึดไปไว้เสียในที่อื่น (การใช้อำนาจหน้าที่ในทางทุจริต)

๒.ความเลี้ยงชีพอนุโลมโจรกรรม
ความเลี้ยงชีพอนุโลมโจรกรรม ได้แก่ กิริยาที่แสวงหาพัสดุในทางที่ไม่บริสุทธิ์ แต่ไม่นับเข้าในอาการโจรกรรม แบ่งเป็น ๓ ประเภท ได้แก่
๑.สมโจร ได้แก่ กิริยาที่อุดหนุนโจรกรรมโดยนัย เช่น รับซื้อของโจร คือเป็นผู้รับซื้อสิ่งของที่ผู้อื่นโจรกรรมได้มา
๒.ปอกลอก ได้แก่ กิริยาที่คบคนด้วยอาการไม่ซื่อสัตย์ มุ่งหมายจะเอาทรัพย์สมบัติของ เขาฝ่ายเดียว เมื่อเขาสิ้นตัวแล้วทิ้งเขาเสีย (คบกับคนอื่นโดยหวังผลประโยชน์ตนฝ่ายเดียว)
๓.รับสินบน ได้แก่ กิริยาที่ถือเอาทรัพย์ที่เขาให้ เพื่อช่วยทำธุระให้แก่เขาในทางที่ผิด

๓.กิริยาเป็นฉายาโจรกรรม
กิริยาเป็นฉายาโจรกรรม ได้แก่ กิริยาที่ทำทรัพย์พัสดุของผู้อื่นให้สูญและเป็นสินที่ใช้ตกอยู่แก่ตน มี ๒ ประเภท ได้แก่
๑.ผลาญ ได้แก่ กิริยาที่ทำอันตรายเสียหายแก่ทรัพย์สินพัสดุของผู้อื่น เช่น แกล้งเผาสวนยาง เผาบ้านของเขา เป็นต้น
๒.หยิบฉวย ได้แก่ กิริยาที่ถือเอาทรัพย์พัสดุของผู้อื่นด้วยความมักง่าย เช่น บุตรหลานประพฤติตนเป็นคนพาลนำเอาทรัพย์สินของพ่อ-แม่ ปู่-ย่า ตา-ยายไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นต้น

สิกขาบทที่ ๒ นี้มีองค์ ๕ คือ


๑.ของนั้นมีเจ้าของหวงแหน
๒.รู้อยู่ว่าของนั้นมีเจ้าของหวงแหน
๓.มีเจตนาจะถือเอาสิ่งนั้น
๔.พยายามถือเอาสิ่งนั้น
๕.ได้ของนั้นมาด้วยความพยายามนั้น

สิกขาบทที่ ๓

กาเมสุ มิจฉาจารา เวรมณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือ เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
คำว่า"กาม"ในทีนี้ ได้แก่ กิริยาที่รักใคร่กันในทางประเวณี ซึ่งทั้งชายและ หญิงต่างก็เป็นวัตถุต้องห้ามของกันและกัน

หญิงที่ต้องห้ามในสิกขาบทนี้มี ๔ จำพวก คือ

๑.ภรรยาผู้อื่น ได้แก่ หญิง ๔ จำพวก ได้แก่


ก.หญิงที่แต่งงานแล้ว
ข.หญิงที่ไม่ได้แต่งงานแต่อยู่กินด้วยกันกับชายโดยอาการเปิดเผย
ค.หญิงผู้รับสิ่งของมีทรัพย์เนต้นของชาย แล้วยอมอยู่กับเขา
ง.หญิงที่ชายเลี้ยงเป็นภรรยา


๒.หญิงที่อยู่ในความพิทักษ์รักษาของเขา ได้แก่ หญิงที่ พ่อ แม่ ญาติ พี่น้อง รักษา

๓.หญิงที่จารีตห้าม ได้แก่ หญิง ๓ จำพวก คือ

ก.หญิงที่อยู่ในพิทักษ์รักษาของตัวเอง และ ผู้ที่เป็นเหล่ากอของตนเอง
ข.หญิงที่อยู่ใต้พระบัญญัติในพระศาสนา เช่น ภิกษุณี ชี เป็นต้น
ค.หญิงที่กฏหมายบ้านเมืองห้ามและลงโทษแก่ชายผู้สมสู่ด้วย

ชายที่ต้องห้ามในสิกขาบทที่ ๓
ชายก็เป็นวัตถุต้องห้ามสำหรับหญิงเหมือนกัน ท่านกล่าวแสดงไว้ ๒ จำพวก คือ

๑.ชายอื่นนอกจากสามี เป็นวัตถุต้องห้ามสำหรับหญิงที่มีสามี
๒.ชายที่จารีตห้าม เช่น พระภิกษุ สามเณร เป็นต้น เป็นวัตถุต้องห้ามสำหรับหญิงทั้งปวง

ในสิกขาบทนี้ คำว่า "การประพฤติผิดในกาม"หมายถึง การร่วมประเวณีในบุรุษและสตรีที่ไม่ใช่สามี-ภรรยาคู่ครองของตนเอง เช่น มารดาบิดาล่วงละเมิดกับบุตรธิดาของตนเอง หรือพี่ชายพี่สาวล่วงละเมิดกับน้องชายน้องสาวของตนเอง ก็เป็นการผิดประเวณีทั้งสิ้น

สิกขาบทที่ ๔

มุสาวาทา เวรมณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ แปลว่า "ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือ เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากมุสาวาท"
คำว่า "มุสาวาทา เวรมณี" แปลว่า เว้นจากมุสาวาท, ความเท็จ ชื่อว่า มุสา, กิริยาที่พูด หรือแสดงอาการมุสา ชื่อว่า มุสาวาท ในสิกขาบทที่ ๔ นี้

ในสิกขาบทที่ ๔ มีข้อห้ามเป็น ๓ อย่าง ได้แก่

๑.มุสา กล่าวเท็จ
๒.อนุโลมมุสา กล่าววาจาที่เป็นตามมุสา
๓.ปฏิสสวะ รับแล้วไม่ทำตามรับ

๑.มุสา มีลักษณะ ดังนี้

๑.เรื่องที่กล่าวนั้นไม่เป็นความจริง ๒.ผู้กล่าวจงใจ
๓.กล่าวให้คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ๔.ผู้ฟังเข้าใจผิด

การแสดงมุสานี้ไม่เฉพาะแต่ทางวาจาอย่างเดียวเท่านั้น แม้ทางกายก็อาจเป็นไปได้ เช่น เขียนหนังสือมุสาเขา แสดงอาการ หรือ สั่นศีรษะ ที่ทำให้เขาเข้าใจผิดจากความเป็นจริง


มุสามี ๗ ประเภท ได้แก่

๑.ปด ได้แก่ มุสาจัง ๆไม่อาศัยมูลเลย ท่านแสดงตัวอย่างไว้ ๔ อย่าง ได้แก่
ก.ส่อเสียด หมายถึง ปดเพื่อจะให้เขาแตกแยกกัน
ข.หลอก หมายถึง ปดเพื่อจะโกงเขา
ค.ยอ หมายถึง ปดเพื่อจะยกย่อง
ง.กลับคำ หมายถึง พูดแล้วไม่ทำตามรับ
๒.ทนสาบาน ได้แก่ กิริยาที่เลี่ยงสัตย์ว่าจะพูดตามเป็นจริง แต่ไม่ได้ตั้งใจจริงอย่างนั้น มีปดเป็นบริวาร, หมายถึง สาบานเพื่อหวังผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น เป็นพยานทนสาบานแล้วเบิกความเท็จในศาล เป็นต้น
๓.ทำเล่ห์กระเท่ห์ ได้แก่ กิริยาที่อวดอ้างความศักดิ์สิทธิ์อันไม่เป็นจริง เช่น อวดรู้วิชาว่าคงกระพัน หรือพูดมุสาด้วยการใช้เพทุบาย ไม่พูดตรง ๆ
๔.มารยา ได้แก่ กิริยาที่แสดงอาการให้เขาเห็นผิดจากที่เป็นจริง เช่น คนไม่มีศีลแต่ทำทีให้เขาห็นว่าเป็นคนมีศีล, หรือเจ็บเล็กน้อยแต่ทำทีเป็นเจ็บปวดเสียมากมาย เป็นต้น
๕.ทำเลส ได้แก่ การพูดมุสาเล่นสำนวน คือ อยากจะพูดเท็จแต่ทำเป็นเลสเล่นสำนวนให้ผู้ฟังนำไปคิด
๖.เสริมความ ได้แก่ พูดมุสาอาศัยมูลเดิม แต่เสริมความให้มากกว่าที่เป็นจริง หรือเรื่องจริงมีนิดหน่อยแต่กลับพูดขยายความออกเสียยกใหญ่จนเกินความจริงไป เช่น พูดพรรณนาถึงสรรพ คุณยาให้เกินกว่าทั่วยาจะรักษาโรคได้
๗.อำความ ได้แก่ พูดมุสาเดิม แต่ตัดความที่ไม่ประสงค์จะให้รู้เสีย เพื่อทำความเข้าใจกลายไปเป็นอย่างอื่น (หมายถึง เรื่องจริงนั้นมีมาก แต่กลับพูดให้เห็นเป็นเรื่องเพียงเล็กน้อย)

๒.อนุโลมมุสา
อนุโลมมุสากำหนดรู้ได้ด้วยลักษณะ ๒ อย่าง ได้แก่


๑.วัตถุที่จะกล่าวนั้นไม่เป็นความจริง
๒.ผู้กล่าวไม่จงใจกล่าวให้ผู้ฟังเข้าใจผิด มี ๒ ประเภท ได้แก่
ก.เสียดแทง ได้แก่ กิริยาที่ว่าให้ผู้อื่นเจ็บใจ เช่น พูดประชด ด่า
ข.สับปรับได้แก่พูดปดด้วยความคะนองวาจาแต่ผู้พูดไม่ตั้งใจจะให้เขาเข้าใจผิด


คำพูดที่จริงที่ไม่สมควรพูด


คำพูดที่จริง แต่ให้โทษแก่ผู้อื่นและผู้พูดเอง เป็นคำพูดที่มุ่งหมายอย่างนั้น ซึ่งคำพูดนั้นมีมูลเหตุมาจากมุสาจึงจัดเข้าในอนุโลมมุสา ได้แก่


๑.คำส่อเสียด ได้แก่ คำพูดที่ได้ยินข้างหนึ่งติเตียนข้างหนึ่งแล้วเก็บไปบอกยุยงเขา เป็นเหตุให้เขาแตกแยกกัน
๒.คำเสียดแทง ได้แก่ การพูดให้เขาเจ็บใจ อ้างวัตถุที่เป็นจริงอย่างนั้นขึ้นพูด เป็นเหตุให้ผู้ที่ต้องถูกว่านั้นเจ็บใจ

๓.ปฏิสสวะ
ปฏิสสวะ ได้แก่ กิริยาที่รับคำผู้อื่นด้วยเจตนาที่บริสุทธิ์คิดจะทำตามที่รับปากไว้จริง ๆ แต่ภายหลังกลับไม่ได้ทำตามที่รับปากไว้นั้น

ปฏิสสวะนี้มี ๓ ประเภท ได้แก่


๑.ผิดสัญญา ได้แก่ การที่ทั้งสองฝ่ายทำสัญญากันว่าจะทำเช่นนั้นเช่นนี้ แต่ภายหลังกลับไม่ได้ทำตามที่สัญญานั้น
๒.เสียสัตย์ ได้แก่ กิริยาที่ให้สัตย์แก่เขาฝ่ายเดียวว่าตนเองจะทำหรือไม่ทำเช่นนั้น เช่นนี้ แต่ภายหลังกลับไม่ทำตามคำพูดนั้น
๓.คืนคำ ได้แก่ การที่รับปากว่าจะทำหรือไม่ทำสั่งนั้นสิ่งนี้โดยมีไม่สัญญา แต่ภาย หลังกัลบไม่ทำตามนั้น

ปฏิสสวะ เป็นเหตุให้ผู้ประพฤติเสียชื่อเสียง จึงควรจะละเสีย ส่วนการ"ถอนคำ" ไม่นับเป็นปฏิสสวะ


ยถาสัญญา
การพูดมุสาที่ไม่ผิดศีล เรียกว่า "ยถาสัญญา" คือ คำพูดที่บุคคลพูดตามความสำคัญ หรือพูดตามโวหารที่ตนเองจำได้ และผู้พูดมีเจตนาบริสุทธิ์ ไม่มีเจตนาที่จะพูดให้ผิดไปจากความเป็นจริง มี ๔ ลักษณะ ได้แก่


๑.โวหาร ได้แก่ ถ้อยคำที่ใช้กันเป็นธรรมเนียม เช่น คำลงท้ายของจดหมายซึ่งแสดงความอ่อนน้อมว่า ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง เป็นต้น
๒.นิยาย ได้แก่ เรื่องที่เปรียบเทียบเพื่อให้ได้ใจความเป็นสุภาษิต เช่น นิยายที่จินตกวีแต่งขึ้น
๓.สำคัญผิด ได้แก่ กิริยาที่ผู้พูดสำคัญผิดและพูดออกไปตามความสำคัญผิดนั้น เช่น วันนี้เป็นวันอังคาร เมื่อมีผู้ถามว่าวันนี้เป็นวันอะไร ? ผู้พูดสำคัญว่าเป็นวันพุธ จึงตอบไปว่า "วันพุธ" เช่นนี้ต้น
๔.พลั้ง ได้แก่ กิริยาที่ผู้พูดตั้งใจจะพูดอย่างหนึ่งแต่พูดออกไปอีกอย่างหนึ่ง และการพูดเช่นนี้เมื่อพูดออกไปแล้วควรบอกใหม่ทันที เช่น ถูกถามว่า "ไปไหนมา ?" ก็รีบตอบเลยทันทีว่า "เปล่า…! ไปธุระมานิดหน่อย" คำว่า "เปล่า" นั้นเป็นคำพูดพลั้งหรือพูดด้วยความเคยชิน โดยไม่มีเจตนาจะพูดให้เขาเข้าใจผิด



สิกขาบทที่ ๕

สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา เวรมณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ แปลว่า ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือ เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท


ความหมายของ "สุรา และ เมรัย"
น้ำเมาที่เป็นของหมักดอง เช่น กระแช่ น้ำตาลเมาต่าง ๆ ชื่อว่า"เมรัย", เมรัยนั้นที่เขากลั่นอีกชั้นหนึ่งเพื่อให้รสเข้มข้นขึ้น เช่น เหล้าชนิดต่าง ๆ ชื่อว่า "สุรา"


ในสิกขาบทนี้ คำว่า"สุราและเมรัย" หมายเอา สุรา ๕ อย่าง และ เมรัย ๕ อย่างซึ่งจะขอกล่าวตามลำดับต่อไป


สุรา ๕ อย่าง ได้แก่


๑.ปิฏฐสุรา สุราทำด้วยแป้ง
๒.ปูวสุรา สุราทำด้วยขนม
๓.โอทนสุรา สุราทำด้วยข้าวสุก
๔.กิณณะปกะขิตตา สุราที่หมักเชื้อ
๕.สัมภาระสังยุตตา สุราที่ปรุงด้วยเครื่องเทศต่าง ๆ

เมรัย ๕ อย่าง ได้แก่


๑.ปุปผาสโว น้ำดองดอกไม้
๒.ผลาสโว น้ำดองผลไม้
๓.มธวาสโว น้ำดองน้ำผึ้งหรือน้ำดองน้ำหวาน
๔.คุฬาสโว น้ำดองน้ำอ้อย
๕.สัมภาระสังยุตโต น้ำดองที่ปรุงด้วยเครื่องเทศต่าง ๆ

สิกขาบทนี้ เป็นสาหัตถิกประโยคเพราะดื่มหรือเสพด้วยตนเองเท่านั้น ไม่เป็นอาณัติกประโยค เพราะใช้ให้ผู้อื่นดื่มหรือเสพ

สิ่งมึนเมาที่อนุโลมเข้ากับสุราและเมรัย

การสูบ ฉีด หรือเสพ ยาเสพติดให้โทษ เช่น กัญชา เฮโรอีน มอร์ฟีน ฝิ่น ทินเนอร์ ฯลฯ เข้าไปในร่างกาย ซึ่งไม่ใมช่การดื่มกินเข้าไปเหมือนสุราและเมรัย ก็จัดว่าผิดศีลข้อที่ ๕ เหมือนกัน เพราะสิ่งเสพติดเหล่านี้ แม้จะไม่ได้ดิ่มกินทางปากก็ตามที แต่ก็สำเร็จเป็นการทำให้มีนเมา ทำให้ไม่สามารถควบคุมสติและควบคุมตนเองได้ เช่นเดียวกับหารดิ่มกินสุราเมรัย ซ้ำยังมีโทษร้ายแรงยิ่งกว่าสุราเมรัยเสียอีก
ยาเสพติด เช่น กัญชา เฮโรอีน มอร์ฟีน ฝิ่น ทินเนอร์ เป็นต้นนั้น ถึงแม้ว่าไม่มีในครั้งพุทธกาล และพระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงห้ามไว้ก็ตามที แต่ก็อนุโลมเข้ากันได้กับสุราเมรัยและของมึนเมาอย่างอื่นอีก เพราะอาศัยหลักฐานคือ มหาปเทส ๔ ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้เป็นหลัก เพราะฉะนั้นยาเสพติดทุกชนิดที่อนุโลมเข้ากับสิ่งที่ไม่ควร จึงทำให้ผู้ที่สูบ เสพ หรือ ฉีด สิ่งเสพติดให้โทษทุกชนิดผิดศีลข้อที่ ๕ ด้วย

มหาปเทสนั้นมี ๔ ประการ ได้แก่.-

๑. สิ่งใดไม่ได้ทรงห้ามไว้ว่าไม่ควร แต่เข้ากับสิ่งไม่ควร(อกัปปิยะ) ขัดต่อสิ่งที่ควร (กัปปิยะ) สิ่งนั้นไม่ควร
๒. สิ่งใดไม่ได้ทรงห้ามไว้ว่าไม่ควร แต่เข้ากันกับสิ่งที่ควร(กัปปิยะ) ขัดต่อสิ่งที่ไม่ควร สิ่งนั้นควร
๓. สิ่งใดที่ไม่ได้ทรงอนุญาตไว้ว่าไม่ควร แต่เข้ากับสิ่งที่ไม่ควร(อกัปปิยะ) ขัดต่อสิ่งที่ควร(กัปปิยะ) สิ่งนั้นไม่ควร.
๔.สิ่งใดที่ไม่ได้ทรงอนุญาตไว้ว่าควร แต่เข้ากับสิ่งที่ควร(กัปิยะ)ขัดกันกับสิ่งที่ไม่ควร (อกัปปิยะ) สิ่งนั้นควร


สุรา และ เมรัย และสิ่งเสพติดให้โทษทั้งหมดนั้น ย่อมทำให้ผู้ที่ดื่มมึนเมาเสียสติ เป็นบ่อเกิดแห่งความประมาท เลินเล่อเผลอสติ ขาดความยั้งคิด ทำในสิ่งที่ไม่ควรทำทุกอย่างได้ทั้งหมด ไม่มีความละอาย และเป็นเหตุให้ทำความชั่วอย่างอื่นได้อีกมากมาย สร้างความปั่นป่วนให้สังคม การดื่มสุราเมรัย และหรือเสพยาเสพติดให้โทษ เป็นอบายมุข เป็นหนทางแห่งหายนะ ฉะนั้นน้ำเมาคือสุราเมรัยจึงได้ชื่อว่า "เป็นที่ตั้งแห่งความประมาท

ส่วนอธิบายของศีล ๕ แต่ละข้อ

ศีลขอที่ ๑
รักษาศีลข้อที่ ๑ คือข้อปาณาฯ


การรักษาศีลข้อนี้คือห้ามฆ่าสัตว์ทุกชนิดรวมทั้งมนุษย์ด้วย การฆ่าสัตว์ทำให้ศีลขาดนั้นมีองค์ประกอบ ๕ อย่าง ดังนี้ ๑. สัตว์นั้นมีชีวิต ๒. รู้อยู่ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต ๓. มีความตั้งใจที่จะฆ่า ๔. มีความพยายามที่จะฆ่า ๕. สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น เมื่อครบด้วยองค์ ๕ นี้ศีลจึงขาด แต่ถ้า ๑ - ๔ ศีลยังไม่ขาด แต่มีความเศร้าหมองไม่สมบูรณ์ การฆ่าสัตว์นั้นทำให้ศีลขาดเท่ากัน แต่บาปกรรมนั้นไม่เท่ากัน สมมุติว่าฆ่าสัตว์ตัวที่มีบุญคุณแก่เรา มีส่วยช่วยเหลือช่วยงานแก่เรา ทำประโยชน์ให้แก่เรา เช่น วัว ควาย ช้าง ม้า เป็นต้น ถ้าฆ่าธรรมดาก็มีบาปมากอยู่แล้ว ถ้าฆ่าด้วยความโกรธก็จะได้รับผลของบาปมากขึ้นเท่าตัว แต่ถ้าสัตว์ตัวที่ถูกฆ่านั้นเป็นพระโพธิสัตว์ลงมาใช้ชาติ ก็จะได้รับผลของบาปนั้น ๑๐ เท่าทีเดียว เมื่อตายไปก็จะได้ลงไปสู่นรกทันที จะได้รับกรรมถูกไฟนรกแผดเผาให้เกิดความทุกข์ทรมานยาวนานทีเดียว เมื่อพ้นจากนรกแล้วก็จะได้มาเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ให้เขาฆ่ามาเป็นอาหารหลายร้ายชาติ ถ้าได้มาเกิดเป็นมนุษย์ก็เป็นมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์ เพราะยังมีวิบากกรรมติดตามมาสนองได้อีก เช่นทำให้อวัยวะไม่สมประกอบ จะทำให้ตาบอด หูหนวก ง่อยเปลี้ยเสียขา แขนหัก ขาขาด ปวดหลัง ปวดเอว ปวดตามร่างกาย หาความสุขไม่ได้เลย หรือเป็นโรคนานาชนิด ทำให้ชีวิตทนทุกข์ทรมาน หรือเกิดมาแล้วมีอายุสั้นพลันตายด้วยอุบัติเหตุต่าง ๆ นี้คือผลกรรมที่ตามสนอง ถ้าฆ่าสัตว์อื่นที่ไม่มีบุญคุณแก่เรา ถ้าฆ่ามากไปก็ตกนรกได้ เมื่อพ้นจากนรกแล้วจะเกิดมาเป็นมนุษย์ก็ทำให้ชีวิตหาความสุขไม่ได้ อายุยังไม่ถึงกาลเวลาของอายุขัยก็ตายไปเสีย ถ้าฆ่าสัตว์เล็ก ๆ น้อย ๆ เกิดมาในชาติหน้าผลของบาปกรรมนั้นจะทำให้ร่างกายเศร้าหมอง ผิวพรรณหยาบกร้านมีโรคผิดหนังประจำตัว มีการเจ็บป่วยเมื่อยตัวเป็นประจำ ดังที่ได้อธิบายมานี้เป็นผลบาปกรรมในการฆ่าสัตว์นั่นเอง

การใช้ปัญญาพิจารณาในผลของบาปกรรมที่ผิดศีลข้อ ๑ นี้ ก็เพื่อให้เข้าใจในผลของกรรมที่ตามสนองให้ได้เกิดความกลัวในบาปกรรมนั้น ๆ ให้เกิดความสำนึกในชีวิตเขาและชีวิตเรา ที่มีความรักความหวงแหนในชีวิตเหมือนกับเรา สัตว์ทุกตัวตลอดเราด้วยก็ไม่อยากตายเพราะถูกฆ่าเหมือนกัน ฉะนั้นจึงไม่ควรที่จะอ้างว่า สัตว์เกิดขึ้นมาเพื่อเป็นอาหารของมนุษย์ แต่ถ้าจับตัวมนุษย์ที่ชอบพูดอย่างนี้ไปให้เสือกินไปให้จระเข้กินดูซิเขาจะว่าอย่างไร สัตว์ทุกตัวมีความกลัวต่อความตายทั้งนั้น เห็นมนุษย์อยู่ที่ไหนก็ต้องหลบหลีกปลีกตัวเพื่อความปลอดภัยแก่ชีวิตของเขา ถึงขนาดนั้นก็พ้นเงื้อมมือมนุษย์ใจบาปนี้ไปไม่ได้ พากันตามไล่ตามฆ่าเอามาเป็นอาหาร ไม่มีความเมตตาสงสารเขาบ้างเลย แต่ละวันมีความสะดุ้งหวาดผวากลัวต่อความตายอยู่ตลอดเวลา ไม่กล้าที่จะออกหากินอะไรได้ตามใจ ถ้าเราตกอยู่ในสภาพอย่างนี้จะมีความทนทุกข์ทรมานขนาดไหน ถึงอย่างไรก็ขอให้คิดถึงชีวิตเขาชีวิตเราดูบ้าง หัวอกเขาอย่างไรหัวอกเราก็เป็นอย่างนั้น ไม่ควรเบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย ให้ถือว่าเขาเป็นญาติเป็นเพื่อนที่เกิดแก่เจ็บตายเหมือนกันกับเรา มนุษย์ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีจิตใจสูง แต่ขอให้สูงด้วยความรัก ให้สูงด้วยความสงสารต่อสัตว์ทั้งหลาย จึงจะชื่อว่าเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เป็นมนุษย์ที่มีคุณธรรม ให้สัตว์อื่นได้พึ่งบารมีสมกับที่ว่ามนุษย์มีจิตใจสูงนี้ด้วยเถิด ถ้าเราใช้ปัญญาพิจารณาในลักษณะนี้อยู่บ่อย ๆ ใจเราก็จะค่อยเปลี่ยนแปลงไปในทางดี จะมีความเมตตาต่อสัตว์ มีความสงสารสัตว์มากขึ้น ในที่สุดเราก็จะไม่กล้าฆ่าสัตว์อีกเลย นี่คือมีปัญญาในการรักษาศีล หรือศีลเกิดขึ้นจากปัญญาก็ว่าได้ ถ้ารับศีลมาแล้ว แต่ขาดปัญญาในการรักษา ศีลนั้นจะขาดหายไปโดยไม่รู้ตัว ฉะนั้น สุตมยปัญญาและจินตมยปัญญา ต้องเกิดมาก่อนศีลแน่นอน นี้คือสัมมาทิฏฐิ คือปัญญาความเห็นชอบในการรักษาศีลนั้นเอง

ผู้รักษาศีลข้อที่ ๑ คือไม่ฆ่าสัตว์ตัวชีวิต (ไม่ทำปาณาติบาต) ย่อมได้รับอานิสงส์ถึง ๒๓ ประการ คือ


๑. บริบูรณ์ด้วยอวัยวะน้อยใหญ่ คือร่างกายไม่พิกลพิการ
๒. มีกายสูงและสมส่วน
๓. สมบูรณ์ด้วยความคล่องแคล่ว
๔. เป็นผู้มีเท้าประดิษฐานลงด้วยดี
๕. เป็นผู้สดใสรุ่งเรือง
๖. เป็นคนสะอาด
๗. เป็นคนอ่อนโยน
๘. เป็นคนมีความสุข
๙. เป็นคนแกล้วกล้า
๑๐.เป็นคนมีกำลังมาก
๑๑.มีถ้อยคำสละสลวยเพราะพริ้ง
๑๒.มีบริษัทบริวารมิได้พลัดพรากจากตน
๑๓.เป็นคนไม่สะดุ้งตกใจกลัว
๑๔ ข้าศึกศัตรูทำร้ายมิได้
๑๕.ไม่ตายด้วยความเพียรของผู้อื่น
๑๖.มีบริวารหาที่สุดมิได้
๑๗.รูปสวย
๑๘.ทรวดทรงสมส่วน
๑๙.ป่วยไข้น้อย
๒๐.ไม่มีเรื่องเสียใจ
๒๑.เป็นที่รักของชาวโลก
๒๒.มิได้พลัดพรากจากผู้หรือสิ่งที่รักและชอบใจ
๒๓.มีอายุยืน
รักษาศีลข้อ ๑ คือไม่ฆ่า ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต มีคุณานิสงส์ ล้วนแต่น่าพอใจ ล้วนแต่ทำให้สุขใจ

ศีลขอที่ ๒
รักษาศีลข้อ ๒ คือ อะทินนาฯ


ศีลข้อนี้ก็เกิดขึ้นจากปัญญาเช่นกัน จงใช้ปัญญาพิจารณาอยู่บ่อย ๆ ว่า สิ่งของของคนอื่นเขาได้มาด้วยความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินด้วยแรงงานด้วยหยาดเหงื่อของเขาเอง หวังว่าจะได้อาศัยปัจจัยเหล่านี้หล่อเลี้ยงชีวิตต่อไป มีความรักทะนุถนอมดูแลเพื่อหวังความสุขในทรัพย์สินเหล่านั้น ถ้าเราไปลักไปปล้นเอาสิ่งของจากเขามาแล้ว เขาก็จะมีความเสียดาย คิดถึงสิ่งของของเขามาแล้ว เขาก็จะมีความเสียดาย คิดถึงสิ่งของของเขามากทีเดียว สมมุติว่ามีคนใดมาลักมาปล้นเอาสิ่งของของเราไป เราก็จะมีความเสียดายและคิดถึงเช่นกัน ให้คิดถึงหัวอกเขาหัวอกเราดูบ้าง เพราะของทุกอย่างใคร ๆ ก็มีความหวงแหนด้วยกันทั้งนั้น ไม่อยากให้คนใดมาลักเอาทรัพย์สินจากตัวเราไป เมื่อเราคิดได้อย่างนี้เราก็จะไม่กล้าไปลักเอาสิ่งของของผู้ใดทั้งสิ้น ศีลข้อนี้ก็จะอยู่เป็นคู่ของกายของใจเราตลอดไป นี้คือผู้มีปัญญาฉลาดในการรักษาศีล

ต้องใช้ปัญญาอบรมใจตัวเอง และสอนใจตัวเองอยู่เสมอ ให้คิดถึงบาปกรรม ที่จะตามสนองในชาติหน้าว่า จะเกิดในสถานที่ทุกข์จนขาดแคลนมาก ความสะดวกความสบายในทรัพย์ไม่มีเลย ตลอดที่อยู่อาศัยบ้านเรือน ที่จะซุกหัวนอนก็ไม่มี อาหารการกินสิ่งที่ดี ๆ มีโอชารสจะไม่ได้กินเลย มีแต่ไปหาเก็บเอาอาหารในถึงขยะกินไปพอประทังชีวิตเท่านั้น จะหางานหาเงินพอจะเป็นไปได้ก็ไม่ได้ พอจะก็มีไม่มี เหมือนคำว่า นกคาบมา อีกาคาบหนี ถึงจะมีทรัพย์สินอยู่บ้างแต่ก็จะถูกคนมาลักคนมาปล้นจากตัวเราไป หรือเกิดความฉิบหายไปด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง นี่ก็ผลของกรรมในการลักเอาสิ่งของของคนอื่นมาเป็นของตน ให้เราพิจารณาในลักษณะนี้อยู่บ่อย ๆ ใจก็จะค่อยเห็นโทษภัยที่จะมาถึงตนทีหลัง ใจก็จะเกิดความละอายและเกิดความกลัวต่อกรรมชั่วมากขึ้น นี้เรียกว่าตนเตือนตนด้วยตนเอง ฉะนั้นผู้รักษาศีลก็ต้องมีปัญญาในการรักษาดังนี้

ผู้รักษาศีลข้อที่ ๒ คือข้อไม่ลักทรัพย์(อทินนาทาน) ผู้รักษาย่อมได้รับอานิสงส์ถึง ๑๑ ประการ ดังนี้


๑. มีทรัพย์มาก
๒. มีข้าวของและอาหารเพียงพอ
๓. ได้โภคทรัพย์ไม่สิ้นสุด
๔. โภคทรัพย์ที่ยังไม่ได้ก็ย่อมได้
๕. โภคทรัพย์ที่ได้ไว้แล้วก็ยั่งยืน
๖. หาสิ่งที่ปรารถนาได้อย่างรวดเร็ว
๗. สมบัติไม่กระจัดกระจายด้วย ราชภัย โจรภัย อุทกภัย อัคคีภัย หรือญาติฉ้อโกง
๘. หาทรัพย์ได้โดยไม่ถูกแบ่ง
๙. ได้โลกุตตรทรัพย์
๑๐.ไม่เคยรู้ ไม่เคยได้ยินคำว่าไม่มี
๑๑.อยู่ที่ไหนก็เป็นสุข

ศีลขอที่ ๓
ศีลข้อ ๓ คือข้อกาเมฯ


ศีลข้อนี้ก็ต้องมีปัญญารักษาเช่นกันใช้ปัญญาพิจารณาว่าเราเป็นมนุษย์ รู้จักความละอายในการกระทำของตนเอง ไม่ควรประพฤติตัวเหมือนสัตว์ดิรัจฉาน เพราะสัตว์ดิรัจฉานไม่มีปัญญาไม่มีความละอายในความประพฤติ เขาจึงทำกันไปแบบภาษาสัตว์ ใครเป็นพ่อใครเป็นแม่ใครเป็นลูกเขาไม่ถือกัน จะล่วงเกินเมียใครลูกใครเขาก็ไม่ละอาย เขาไม่รู้จักสิ่งที่ควรหรือไม่ควร นี่เราเป็นมนุษย์ที่เพียบพร้อมด้วยคุณธรรม มีสติมีปัญญาที่ดี รู้จักบาปบุญคุณโทษ จึงไม่ควรฝึกตัวเอาแบบอย่างของสัตว์ดิรัจฉาน ความพอดีของมนุษย์คือผัวเดียวเมียเดียวก็พอแล้ว ถ้ามาฝึกตัวเหมือนสัตว์ เกิดชาติหน้าก็จะได้ไปเกิดเป็นสัตว์อีกต่อไป ดังภาษิตว่า มนุสฺสติรจฺฉาโน ถึงร่างกายเป็นมนุษย์ แต่ใจเป็นเหมือนสัตว์ดิรัจฉาน เมื่อตายไปก็จะได้ไปเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉานต่อไป เมื่อได้มาเกิดเป็นมนุษย์วิบากกรรมก็ยังตามมา กรรมจะบันดาลให้ได้แต่คนนอกใจ ถ้ามีสามี สามีก็จะนอกใจ ถ้ามีภรรยา ภรรยาก็จะนอกใจ ไม่มีความซื่อสัตย์ต่อกัน เผลอเมื่อไร เป็นอันเกิดเรื่องทันที ถ้าเป็นไปในลักษณะอย่างนี้ จะไม่มีความสุขในครอบครัวนั้นเลย มีแต่ทะเลาะเบาะแว้งตีกันฆ่ากันเดือดร้อนวุ่นวายกันไปหมด นี้คือบาปกรรมตามสนองผู้ชอบล่วงละเมิดศีลข้อกาเมฯ ฉะนั้นเราเป็นมนุษย์ผู้มีจิตใจสูงมีสติปัญญาที่ดี ก็ให้มีศีลข้อนี้ประดับใจประดับกาย ใช้เป็นอุบายสอนใจอยู่เสมอ ๆ อีกสักวันหนึ่งใจก็จะเกิดความสำนึกตัวมีความละอายในการกระทำในสิ่งที่ผิดจากจารีตประเพณี นี้คือรักษาศีลด้วยปัญญา ถ้าปัญญาได้อบรมสอนใจตัวเองอยู่บ่อย ๆ อย่างนี้ ผู้นั้นจะไม่ผิดศีลข้อกาเมฯ นี้อย่างแน่นอน

ผู้รักษาศีลข้อ ๓ คือ เว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร ได้แก่เว้นจากการประพฤติผิดในการ (ไม่ทำชู้กับคู่ครองของผู้อื่น) ได้รับอานิสงส์ผลถึง ๒๐ ประการ (ปรมตฺถโชติกา)

๑. ไม่มีข้าศึกศัตรู
๒. เป็นที่รักแห่งชนทั่วไป
๓. หาข้าวน้ำเครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่ อาศัยได้ง่าย
๔. หลับก็เป็นสุข
๕. ตื่นก็เป็นสุข
๖. พ้นภัยในอบาย
๗. ไม่ต้องเกิดเป็นหญิงหรือเป็นกะเทยอีก
๘. ไม่โกรธง่าย
๙. ทำอะไรก็ทำได้ โดยเรียบร้อย
๑๐.ทำอะไรก็ทำโดยเปิดเผย
๑๑.คอไม่ตก (คือมี สง่า)
๑๒.หน้าไม่ก้ม (คือมีอำนาจ)
๑๓.มีแต่เพื่อนรัก
๑๔.มีอินทรีย์ ๕ บริบูรณ์
๑๕.มีลักษณะบริบูรณ์
๑๖.ไม่มีใครรังเกียจ
๑๗.ขวนขวายน้อยไม่ต้องเหน็ดเหนื่อย หากินง่าย
๑๘.อยู่ที่ไหนก็เป็นสุข
๑๙.ไม่ต้องกลัวภัยจากใคร ๆ
๒๐.ไม่ค่อยพลัดพรากจากของที่รัก

ศีลขอที่ ๔
ศีลข้อที่ ๔ คือข้อมุสาฯ


ศีลข้อนี้จะขาดไปเพราะคำพูด ฉะนั้นก่อนจะพูดต้องตรึกตรองใคร่ครวญในคำพูดให้ดีเสียก่อนจึงพูดออกไป ว่าการพูดในประโยคนี้จะเกิดความเสียหายกับตัวเองและคนอื่นหรือไม่ ถ้าเราพูดความไม่จริงออกไปจะเกิดความรู้สึกแก่ผู้รับฟังอย่างไร หรือเราได้รับฟังคำพูดไม่จริงจากคนอื่น ในความรู้สึกของเราก็จะขาดความเชื่อถือจากคนนั้นทันที หรือพูดส่อเสียดเบียดบังเปรียบเปรยในลักษณะเสียดแทงให้คนอื่นไม่สบายใจ การพูดออกไปอย่างนี้จะก่อให้เกิดความแตกแยกกัน สมมุติว่าแต่ก่อนมามีความรักกันมีอะไรก็ช่วยเหลือกัน เหมือนกับว่าฝากเป็นฝากตายกันได้ มีความเคารพเชื่อถือกันมาตลอด ไปไหนไปด้วยกันอยู่ด้วยกัน ความรักสมัครสมานสามัคคีมีต่อกันอย่างมั่นคง เป็นเพื่อนสนิทมิตรที่รักต่อกันมาแล้วตาม เมื่อได้รับฟังคำพูดที่ไม่จริง หรือเป็นคำพูดส่อเสียดเปรียบเปรยไปในทางทีเสียหาย ความรักกันความไว้ใจกันที่เคยมีมาทั้งหมดนั้นก็พังทลายลงทันที ความสามัคคีที่เคยมีต่อกันมาก็แตกแยกกัน แต่ก่อนเคยแสดงกิริยาในความรักความเคารพต่อกัน และมีความเชื่อถือต่อกันมายาวนานก็ตาม ความรู้สึกทั้งหมดนี้ก็หมดสภาพไป ถึงจะมีภาระหน้าที่พูดคุยกันก็ไม่สนิทสนมกันเหมือนที่เคยเป็นมา ถึงจะมีกิริยาออกมาในทางที่ดีต่อกันอยู่ก็ตาม ส่วนตัว อกิริยา ที่เจ็บใจฝังลึก ๆ ในความรู้สึกนั้นยังมีอยู่ อีกสักวันหนึ่งก็จะหาช่องทางระบายอารมณ์แห่งความแค้นนี้ออกไปให้ได้ จะเพ่งเล็งหาจุดอ่อนซึ่งกันและกันออกมาตอบโต้กัน ถ้าพูดต่อหน้าไม่ได้ก็ต้องพูดลับหลัง อาศัยคนใดคนหนึ่งเป็นสุขภัณฑ์เป็นผู้รับถ่ายเท ระบายความในในที่ไม่พอใจกับคนคนนั้น ด้วยวิธีใดก็จะระบายออกมาอย่างเต็มที่ นี้เรียกว่าพูดโจมตีกันลับหลัง หรือกล่าวคำนินทาว่าร้ายออกมาให้สนใจ เมื่อเริ่มต้นเป็นมาอย่างนี้ ต่อไปนี้จะเกิดความอิจฉาตาร้อนต่อกัน หาคำพูดที่จะเอาชนะกันด้วยวิธีต่าง ๆ ในที่สุดก็กลายเป็นพยาบาทอาฆาตจองเวรต่อกันไปไม่มีที่สิ้นสุด

ผู้รักษาศีลข้อที่ ๔ คือเว้นจาการพูดปด พูดหลอกลวงปลิ้นปล้อน ย่อมได้รับอานิสงส์ ๑๔ ประการ (ปรมตฺถโชติกา)


๑. มีอินทรีย์ ๕ ผ่องใส
๒. มีวาจาไพเราะสละสลวย
๓. มีไรฟันอันเสมอชิตบริสุทธิ์
๔. ไม่อ้วนเกินไป
๕. ไม่ผอมเกินไป
๖. ไม่ต่ำเกินไป
๗. ไม่สูงเกินไป
๘. ได้แต่สัมผัสอันเป็นสุข
๙. ปากหอมเหมือนดอกบัว
๑๐.มีบริวารล้วนแต่ขยันขันแข็ง
๑๑.มีถ้อยคำที่บุคคลเชื่อได้
๑๒.ลิ้นบางแดงอ่อนเหมือนกลีบดอกบัว
๑๓.ใจไม่ฟุ้งซ่าน
๑๔.ไม่เป็นอ่าง ไม่เป็นใบ้

ศีลข้อที่ ๕
ศีลข้อที่ ๕ คือข้อสุราฯ


ศีลข้อนี้ก็มีความสำคัญอยู่มากทีเดียว จึงได้บัญญัติเอาไว้ เพื่อป้องกันเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้นทีหลัง เฮโรอีน ฝิ่น กัญชา ยาม้า เหล่านี้ ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ทำให้ใจเกิดความลืมตัว กล้าทำกล้าพูดในสิ่งที่ไม่ควรทำควรพูด ถ้าเมาลงไปเมื่อไรจะไม่คิดถึงในคุณธรรมที่ดีงาม จะฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดโกหกมดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเหลวไหลไม่มีสาระ หมดความละอาย จะทำจะพูดอะไรไม่มีความสำนึก ไม่มีความรับผิดชอบในการทำการพูดของตนเอง ตามปกติแล้วมนุษย์เรามีนิสัยบ้าบอคอแตกอยู่ในตัวอยู่แล้ว เมื่อได้เสพสิ่งที่ว่ามาผสมลงไป ใจก็จะเกิดเป็นบ้าเพิ่มขึ้นหลายท่า มีกิริยาทางกาย กิริยาทางวาจา ที่แสดงออกมานั้นไม่น่าดูไม่น่าฟัง ดังเห็นกันอยู่ในที่ทั่วไป ย่อมก่อเหตุก่อภัยขึ้นมานานาประการ เกิดความเสียหายให้แก่ตัวเองและคนอื่นเป็นอย่างมาก จะเป็นผู้นำในครอบครัวหรือเป็นผู้นำในการบริหารงานต่าง ๆ ไม่ได้เลย พวกขี้เมาทั้งหลายนี้จะพัฒนาในสิ่งใดให้ดีขึ้นไม่ได้เลย มีแต่จะก่อให้เกิดความหายนะล้มเหลวล่มจม เสียหายในทรัพย์สินเงินทอง ไม่รู้จักในการเก็บรักษาและไม่รู้จักหาสมบัติเข้ามาเพิ่มเติม มีแต่จ่ายให้หมดไป ไม่รู้อนาคตของตนเองว่าจะเป็นไปอย่างไร การกระทำของคนประเภทนี้ นักปราชญ์บัณฑิตทั้งหลายไม่มีความสรรเสริญอีกต่อไป ในชาติหน้าเขาก็จะได้รับกรรมชั่วอย่างแน่นอน

ผู้รักษาศีล ๕ คือเว้นจากการเสพสุราเมรัย สารเสพย์ติดทุกชนิด ย่อมได้รับอานิสงส์ ๓๕ ประการ (ปรมตฺถโชติการ)


๑.  รู้กิจการอดีต อนาคต ปัจจุบันได้รวดเร็ว
๒.  มีสติตั้งมั่นทุกเมื่อ
๓.  ไม่เป็นบ้า
๔.  มีความรู้มาก
๕.  ไม่หวั่นไหว (ผู้ใดชวนในทางผิดไม่ร่วมมือด้วย)
๖.  ไม่งุนงง ไม่เซอะ
๗.  ไม่ใบ้
๘.  ไม่มัวเมา
๙.  ไม่ประมาท
๑๐. ไม่หลงใหล
๑๑. ไม่หวาดสะดุ้งกลัว
๑๒. ไม่มีความรำคาญ
๑๓. ไม่มีใครริษยา
๑๔. มีความขวนขวายน้อย
๑๕. มีแต่ความสุข
๑๖. มีอต่คนนับถือยำเกรง
๑๗. พูดแต่คำสัตย์
๑๘. ไม่ส่อเสียดใคร ไม่มีใครส่อเสียด
๑๙. ไม่พูดหยาบกับใคร ไม่มีใครพูดหยาบด้วย
๒๐. ไม่พูดเล่นโปรยประโยชน์
๒๑. ไม่เกียจคร้านทุกคืนวัน
๒๒. มีความกตัญญู
๒๓. มีกตเวที
๒๔. ไม่ตระหนี่
๒๕. รู้เฉลี่ยเจือจาน
๒๖. มีศีลบริสุทธิ์
๒๗. ซื่อตรง
๒๘. ไม่โกรธใคร
๒๙. มีใจละอายแก่บาป
๓๐. รู้จักกลัวบาป
๓๑. มีความเห็นถูกทาง
๓๒. มีปัญญามาก
๓๓. มีธัมโมชปัญญา (มีปัญญารสอันเกิดแต่ธรรม)
๓๔. เป็นปราชญ์ มีญาณคติ (เป็นคลังแห่งปัญญา)
๓๕. ฉลาดรู้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์และรู้ในสิ่งอันเป็นโทษ


อนันตริยกรรม

อนันตริยกรรม สารานุกรมเสรีอนันตริยกรรม หมายถึง กรรม หนักที่สุด (ครุกรรม) ฝ่ายบาปอกุศล ซึ่งให้ผลทันที มี 5 อย่าง คือ มาตุฆาต - ฆ่ามารดา ปิตุ...