วันอาทิตย์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2562

บทบาทของน้ำในพระพุทธศาสนา

บทบาทของน้ำ ในพระพุทธศาสนา



เราทุกคนต่างรู้ดีว่าน้ำเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งสำหรับความอยู่รอดของเหล่าสัตว์มีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ สัตว์ดิรัจฉาน และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ก็ดี น้ำยังทำให้แหล่งธรรมชาติต่าง ๆ เช่น ป่าไม้ ต้นไม้ ต้นหญ้าเป็นต้นดำรงอยู่ได้ น้ำเป็นบ่อเกิดของสิ่งมีชีวิตทุกประเภท ไม่มีมนุษย์คนใดหรือไม่มีสังคมใดจะอยู่ได้โดยปราศจากน้ำ

น้ำเป็นธาตุอันหนึ่งในบรรดาธาตุสี่ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ซึ่งมีปรากฏในสรรพสิ่ง ทั้งสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต เนื่องจากน้ำเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับทุกชีวิตแล้ว ฉะนั้น เราทุกคนจึงควรช่วยกัน รักษาน้ำให้สะอาด ไม่ทำน้ำให้สกปรกโดยการทิ้งขยะลงในแม่น้ำ
การทำอย่างนี้ก็เพื่อรักษาน้ำไว้ให้ลูกหลานของเราในอนาคตนั่นเอง

ในมุมมองของพระพุทธศาสนา บทบาทของน้ำใน ๒ แง่มุม คือ

น้ำที่ใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาพุทธ และคติธรรมคำสอนที่เราได้จากน้ำ

น้ำที่ใช้ในพิธีกรรมทางพุทธศาสนา
๑. น้ำพระพุทธมนต์ หรือน้ำศักดิ์สิทธ์
ในพิธีปฏิบัติทางศาสนาพุทธ พระจะทำน้ำมนต์ในพิธีต่าง ๆ เนื่องในโอกาสที่แตกต่างกัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เนื่องในโอกาสมีงานอันเป็นมงคลเช่น งานแต่งงาน งานขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น

เมื่อว่าตามหลักการ ของพระพุทธศาสนาแล้ว ในอรรถกถาธรรมบท พระพุทธองค์ได้รับสั่งให้พระอานนทเถระ ผู้เป็นพุทธอุปัฏฐากทำน้ำพระพุทธมนต์ คราวเมื่อเกิดภัยพิบัติ ๓ ประการ คือ
ข้าวยากหมากแพง ปีศาจ และเกิดโรคระบาด ที่เมืองเวสาลี

เมื่อท่านได้เรียนเอารัตนสูตรจากพระพุทธองค์แล้ว ท่านได้สาธยายพุทธมนต์ และประพรมน้ำพระพุทธมนต์ไปทั่วตามสถานที่ต่าง ๆ ผลปรากฏว่า
ภัยพิบัติ ๓ ประการก็บรรเทาเบาคลาย และหายไปในที่สุด

เพื่อเป็นการประพฤติตามข้อปฏิบัติอันนี้ ชาวพุทธเชื่อว่าน้ำมนต์สามารถขจัดปัดเป่า
ความโชคร้ายหรือภัยพิบัติต่าง ๆ ได้ ดังนั้น เมื่อมีงานพิธีต่าง ๆ จึงนิมนต์พระสงฆ์ ไปเจริญพุทธมนต์ที่บ้าน

ในการทำน้ำมนต์นั้น พระสงฆ์จะสวดพระปริตต์ ด้วยสมาธิจิตที่แน่วแน่ น้ำกลายเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์หรือน้ำมนต์ขึ้นมาได้ก็อยู่ตรงที่ความที่จิตของพระผู้สวดเป็นสมาธิ และความเชื่อมั่นในพระคุณของพระรัตนตรัยของพุทธศาสนิกชนนั่นเอง

ก่อนจบพิธีกรรมทุกอย่าง พระสงฆ์จะสวดมนต์อีกครั้ง (ชยมงคลกถา) ในขณะที่หัวหน้าพระสงฆ์เดินประพรมน้ำพระพุทธมนต์ ให้กับผู้คนที่มาร่วมงาน ก่อนที่จะเดินทางกลับวัด

อย่างไรก็ดี สาระสำคัญของน้ำมนต์ ก็อยู่ที่การทำให้เกิดสติปัญญา และส่งเสริมกำลังใจแก่อุบาสกอุบาสิกา
ในงานแต่งงาน เพื่ออวยพรให้คู่บ่าวสาว แขกผู้มาร่วมงานจะรดน้ำสังข์ลงบนมือหรือศีรษะของคู่บ่าวสาวทั้งสองคน เพื่อที่จะอวยพรให้เขาทั้งสองมีความสุขกับชีวิตการแต่งงาน พร้อมทั้งสอนว่า ขอให้รักสามัคคีกัน ไม่แตกแยกกันเหมือนน้ำนี้นะ แต่พิธีนี้ก็มีต้นกำเนิดมาจากศาสนาฮินดู

๒. พีธีอาบน้ำศพ หรือสรงน้ำศพ
ในสังคมชาวพุทธเมื่อใครคนใดคนหนึ่ง เสียชีวิตลง ก่อนที่จะนำศพบรรจุลงในโลงศพ
จะมีพิธีรดน้ำศพก่อน บรรดาญาติ ๆ และเพื่อน ๆ ของผู้ตายก็จะมารดน้ำลงบนฝ่ามือของผู้ตาย เพราะนี่เป็นโอกาสสุดท้ายที่จะได้เห็นผู้ตาย ญาติ ๆ และเพื่อน ๆ
ยังถือโอกาสนี้ขอขมาลาโทษต่อความผิดต่าง ๆ ที่อาจจะเคยล่วงเกินต่อผู้ตาย
เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ และอวยพรให้ผู้ตายไปสู่สุคติ

เมื่อเห็นศพของผู้ตาย เราสามารถ สอนตัวเราเองได้ว่า เมื่อก่อนบุคคลผู้นี้ ก็เป็นเช่นเดียวกันกับเรา
ตอนเมื่อเขาเกิดมา ก็ไม่มีอะไรติดตัวมาด้วย และเมื่อตายไปก็ไม่มีอะไรติดตัวไปด้วยเช่นกัน
เราอาจจะภาวนาในใจว่า สัพเพ สังขารา อนิจจา
สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ ทุกสิ่งเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปในที่สุด
เหมือนผู้ตายที่กำลังนอนอยู่นี้ ดังนั้น เราจึงไม่ควรอยู่ด้วยความประมาทมัวเมา เพราะวันหนึ่งความตายจะต้องมาถึงเราเป็นแน่
เราสามารถพูดได้ว่า พิธีกรรมนี้สามารถเจริญกุศลให้เกิดขึ้นในใจได้

สรุปได้ว่าพิธีนี้มีจุดประสงค์เพื่อ ให้บรรดาญาติ ๆ และเพื่อน ๆ ของผู้ตายมีโอกาสขอขมาลาโทษต่อผู้ตาย และพบหน้าผู้ตายเป็นครั้งสุดท้าย พร้อมทั้งสอนให้ผู้มาร่วมรดน้ำศพได้เข้าใจถึงพระไตรลักษณ์ คือ
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ด้วย เพื่อที่ว่าเราจะได้อยู่ด้วยความไม่ประมาท

๓. ใช้น้ำเป็นสัญลักษณ์ของการให้
เมื่อเราคิดจะถวายที่ดินสักแปลง สวน หรือสิ่งอื่น ๆ ที่ไม่สามารถยกขึ้นได้ เราอาจจะรินน้ำลงบนฝ่ามือของผู้รับเช่นพระสงฆ์ได้ พระเจ้าพิมพิสารทรงทำเป็นอันดับแรก

เมื่อพระองค์ถวายพระเวฬุวัน (สวนไม้ไผ่) เพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยแก่พระพุทธองค์ พระองค์ทรงจับพระเต้าทอง หลั่งน้ำอุทิศสวนนั้น เจาะจงแด่พระพุทธองค์ด้วยการตรัสว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันขอถวายเวฬุวันนี้ ซึ่งเป็นสถานที่น่ารื่นรมย์ แก่พระภิกษุสงฆ์อันมีพระพุทธองค์เป็นประมุข

อีกเหตุการณ์หนึ่ง พระเจ้าพิมพิสารได้ทรง หลั่งน้ำทักษิโณทกเพื่ออุทิศผลบุญ
ที่พระองค์ทรงบำเพ็ญแก่บรรดาอดีตพระญาติ ที่ไปเกิดเป็นเปรต เพื่อประพฤติตามข้อปฏิบัตินี้

หลังการทำบุญทุกประเภทแล้ว ในงานศพ ชาวพุทธจะกรวดน้ำ
เพื่ออุทิศผลบุญกุศลแก่บรรดาญาติที่ตายไปแล้ว ในงานอื่น ๆ ทั่วไป
ก็จะกรวดน้ำแผ่ส่วนบุญไปให้สรรพสัตว์ต่าง ๆ ในขณะที่พระสงฆ์กำลังสวดให้พรเป็นภาษาบาลี นี่ก็เป็นกุศโลบายอันหนึ่งในการที่จะทำให้จิตใจเป็นสมาธิจดจ่อและเป็นกุศล
เมื่อนั้นจึงอุทิศแผ่ผลบุญ ที่เกิดจากการทำบุญไปให้สรรพสัตว์ที่เราเจาะจงถึง
ขณะที่กรวดน้ำลงพื้นดิน เราใช้น้ำเป็นสื่อ ใช้ดินเเป็นพยานในการแผ่ส่วนบุญ

การกรวดน้ำมีวัตถุประสงค์หลัก ๓ ประการ
๑. เพื่อแสดงอาการให้
๒. เพื่อตั้งความปรารถนา ขอให้ผลบุญกุศลที่ได้ทำไปแล้ว เป็นปัจจัยให้ประสบความสำเร็จตามที่ตนปรารถนา
๓. เพื่ออุทิศ แบ่งปัน และให้ส่วนบุญแก่เพื่อนหรือญาติที่จากไป และแก่บรรดาสัตว์อื่น ๆ โดยไม่เลือกหน้า เป็นวิธีการแสดงความใจกว้างในบุญ เพราะนี่ก็เป็นหนึ่งในบรรดาบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ
ที่เรียกว่า ปัตติทานมัย บุญสำเร็จได้ด้วยการแผ่แบ่งปันส่วนบุญ

น้ำในเทศกาลต่างๆ
๑. เทศกาลสงกรานต์
เป็นวันปีใหม่แบบไทยและถือว่าเป็นโอกาส การกลับมารวมตัวกัน ของคนในครอบครัว เทศกาลสงกรานต์
ตรงกับวันที่ ๑๓ เมษายน ของทุก ๆ ปี หรือที่รู้กันอีกอย่างหนึ่งว่า "เทศกาลน้ำ"

เพราะผู้คนเชื่อว่าน้ำสามารถขจัดความโชคร้ายหายนะ ทั้งปวงได้สำหรับชาวพุทธ เมื่อถึงวันสงกรานต์ ก็จะพากันไปวัดใกล้บ้าน เพื่อสรงน้ำพระพุทธรูป และสรงน้ำพระสงฆ์ เป็นการแสดงความเคารพต่อพระสงฆ์ ชาวพุทธยังแสดงความเคารพต่อ ผู้แก่ผู้เฒ่าโดยรดน้ำอบน้ำหอมลงบนฝ่ามือของท่านเหล่านั้น ในทางกลับกัน ผู้เฒ่าผู้แก่ก็จะอวยพร ให้คนหนุ่มสาวประสบโชคดีและเจริญรุ่งเรืองในการดำเนินชีวิตต่อไป

๒. ลอยกระทง
เป็นเทศกาลที่เป็นที่รู้จักกันมาก ซึ่งจะมีขึ้นราวต้นเดือน พฤศจิกายน ความจริงแล้ว ประเพณีลอยกระทงมีต้นกำเนิดมาจากพราหมณ์หรือฮินดู โดยมีจุดประสงค์ เพื่อให้คนได้แสดงความขอบคุณต่อพระแม่คงคา
ในฐานะที่เป็นชาวพุทธ เราจะใส่เทียน ธูป ๓ ดอก และดอกไม้ลงในกระทง
เมื่อจุดเทียนและธูปแล้ว ก็ตั้งจิตอธิษฐานแล้วก็ปล่อยกระทงลงในคลอง แม่น้ำ หรือแม้แต่สระเล็ก ๆ จุดประสงค์ก็เพื่อน้อมบูชารอยพระพุทธบาท ที่พระพุทธองค์ทรงทำไว้ ที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทา และเป็นการขอขมาต่อพระแม่คงคาด้วย

คติธรรม คำสอน จากน้ำ
เนื่องจากวิถีชีวิตของชาวพุทธมีความเกี่ยวข้องกับน้ำ ดังนั้น น้ำจึงใช้ในพิธีกรรมต่าง ๆ
และทุกพิธีกรรมก็มีเหตุผลทั้งสิ้น เมื่อเราได้พิจารณาถึง ลักษณะของน้ำแล้ว
เราจะได้แง่คิดคติธรรมบางประการเกี่ยวกับน้ำ น้ำมีลักษณะที่สำคัญอยู่ ๖ ประการ คือ

๑. ละลายของแข็ง
โดยธรรมชาติ น้ำเป็นของอ่อน แต่มีอานุภาพสามารถ ทำลายสิ่งของที่เป็นของแข็งเช่นหินได้
เราจะเห็นว่า ถ้าน้ำหยดลงบนหินทุกวัน หินมันยังกร่อน พระพุทธศาสนาสอนให้คนเรารู้จักสร้างบุญกุศลโดยการอ่อนน้อมถ่อมตน พูดจาสุภาพอ่อนหวาน ดังเช่นที่พระพุทธองค์ตรัสว่า "คารโว จ นิวาโต จ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ……
" ความมีสัมมาคารวะ และอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นมงคลสูงสุด

๒. แรงสามัคคี
โดยธรรมชาติแล้ว น้ำจะอยู่รวมตัวกัน เมื่อเราใช้มีดฟันลงไป น้ำจะกลับเข้าหากันทันทีทันใด
ถ้าเรามีความสามัคคี ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตาม สิ่งนั้นก็จะสำเร็จได้
เช่นเดียวกับน้ำ เมื่อน้ำรวมกันเป็นจำนวนมากเข้า น้ำก็จะมีพลังมาก
สามารถสร้างประโยชน์ ให้กับมนุษย์ได้ เช่นทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าจากเขื่อนขนาดใหญ่
ใจของคนเราก็เช่นเดียวกัน เมื่อใจรวมกันเป็นหนึ่ง
มีสมาธิแน่วแน่ใจก็จะมีพลังสามารถสร้างประโยชน์ได้มากมาย มหาศาลเลยทีเดียว

๓. มีความชุ่มเย็น
ลักษณะของน้ำอีกประการหนึ่งก็คือความชุ่มชื่นหรือชุ่มเย็น และเพราะความชุ่มชื่นของน้ำนี่เอง
จึงทำให้สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ บนโลกนี้อยู่รอด และสามารถอยู่ได้อย่างมีความสุข ข้อนี้สามารถเปรียบเทียบได้กับหลักธรรมคือเมตตา เมื่อคนเราต่างมีเมตตาต่อกันและกัน
ไม่จำกัดเฉพาะเผ่าพันธุ์ เชื้อชาติ ศาสนาของตัวเท่านั้น ไม่มีการเลือกที่รักมักที่ชัง
เราก็จะอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข เราใช้น้ำชำระล้างสิ่งของโสโครกต่าง ๆ เช่นเดียวกับหลักคำสอนของศาสนาที่มุ่งชำระกาย วาจา และใจของศาสนิกผู้ปฏิบัติให้สะอาด

๔. เน้นความยุติธรรม
น้ำมีลักษณะของความยุติธรรม ซื่อตรง และเที่ยงตรง พวกช่างจะใช้น้ำสำหรับวัดระดับของสิ่งต่าง ๆ หรือของพื้นที่เมื่อจะสร้างบ้านหรือตึก ข้อนี้เปรียบได้กับความซื่อสัตย์ และความยึดหลักคุณธรรมของคน ถ้าคนเราทุกคนมีความซื่อสัตย์และจริงใจต่อกันแล้ว เมื่อนั้นเราก็จะอยู่ร่วมกันได้
โดยปราศจากข้อระแวงสงสัย และปราศจากความไม่ไว้ใจต่อกันและกัน

๕. นำประสาน
น้ำใช้สำหรับประสานสิ่งต่าง ๆ ให้เข้ากัน อย่างเช่น ในการสร้างบ้านหรือตึก
ก่อนที่จะเป็นตึกหรือบ้านขึ้นมาได้นั้น ก็เพราะใช้น้ำประสานสิ่งต่าง ๆ เช่น
อิฐ หิน ปูน ทรายให้เข้ากัน ถ้าไม่มีน้ำเสียแล้ว ตึกก็สร้างขึ้นมาไม่ได้ ศาสนาทำหน้าที่คล้าย ๆ กับน้ำตรงที่ศาสนาช่วยประสานผู้คนจากครอบครัวและประเทศต่าง ๆ ให้อยู่ร่วมกันได้ มนุษย์จะสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขก็ต้องประกอบด้วยธรรมคือ
สังคหวัตถุ ๔ ประการคือ โอบอ้อมอารี วจีไพเราะ สงเคราะห์ประชาชน ทำตนเสมอต้นเสมอปลาย
(ทาน ปิยวาจา อัตถจริยา และสมานัตตตา)

๖. พัฒนาการตน
น้ำจะปรับตัวเองได้ดีไม่ว่าจะอยู่ในที่ใดก็ตาม เช่นเมื่ออยู่ในแม่น้ำ ลำคลอง หรืออยู่ในวัตถุอื่น ๆ ก็ตาม
เมื่อน้ำอยู่ในที่ใด รูปร่างลักษณะของน้ำ ก็จะเหมือนกับภาชนะนั้น ๆ
เช่นเมื่อน้ำอยู่ในขวด เราก็จะเห็นน้ำ เป็นรูปของขวด ข้อนี้เพื่อที่จะสอนว่า คนเราควรปรับปรุงและพัฒนาตัวเองอยู่เสมอให้เข้ากับสถานที่ และสังคมที่ตัวเองอยู่


ข้อสังเกตส่งท้าย

เราสามารถค้นพบบทบาทของน้ำจากมุมมองต่าง ๆ ในพิธีกรรมทางพุทธศาสนาน้ำจะถูกใช้เพื่อสื่อหลักคำสอน พิธีกรรมเป็นเพียงวิธีการที่จะชักจูง คนให้เข้ามาและเรียนรู้เพิ่มขึ้น และจากลักษณะของน้ำ
ทำให้เราได้แนวคิดเกี่ยวกับหลักคำสอน ของพระพุทธศาสนา
และเราควรนำเอาไปประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามให้กับโลก

น้ำมีบทบาทที่สำคัญโดยการหล่อเลี้ยงสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ เช่นเดียวกับศาสนา ทุกศาสนาก็มีบทบาทสำคัญเช่นเดียวกับน้ำตรงที่ช่วยหล่อเลี้ยงจิตใจของผู้คน และให้แนวทางในการดำเนินชีวิตเพื่อจะได้ประสบความสุข ศาสนาที่แตกต่างกันเปรียบได้กับสายน้ำที่แตกต่างกันซึ่งไหลมาจากทิศต่าง ๆ แต่เมื่อแม่น้ำทุกสายไหลมารวมกันที่มหาสมุทรอันเดียวกันแล้ว
เราแยกแยะไม่ได้ว่า นี้เป็นน้ำจากแม่น้ำสายนั้น นั่นเป็นแม่น้ำจากมหาสมุทรนั้น ผู้คนจากศาสนาต่าง ๆ ควรหันหน้าเข้ามาหากัน ทำงานร่วมกันเพื่อนำสันติภาพมาสู่โลกให้ได้


วิธีการอยู่กับน้ำ


น้ำเป็นทรัพยากรธรรมชาติ น้ำเป็นปัจจัยหลักของมนุษย์ในโลกนี้ หากพิจาณาองค์ประกอบทางร่างกาย “ธาตุ-ขันธ์” ธาตุน้ำเลือด เสลด มัน ไข ล้วนเป็นธาตุที่นำไปสู่การปรับความสมดุลอุณหภูมิในร่างกายมนุษย์ ในโลกทางกายภาพ แผ่นดิน ๑ ส่วน น้ำ ๓ ส่วน เป็นองค์ประกอบที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน นอกจากนี้น้ำยังเป็นปัจจัยการยังชีพในทุกแขนงน้ำถูกเก็บไว้ในเงื่อน เพื่อการผลิตไฟฟ้า เพื่อการเกษตร ทำประปา เพื่อใช้สาธารณูปโภค นับตั้งแต่ดื่ม กินใช้ หุงต้ม ชำระล้างสิ่งสกปรก สภาพเหล่านี้สะท้อนความจริงได้เหมือนกันว่า น้ำกับชีวิตไม่สามารถแยกขาดจากกันได้


ในสภาพทางพฤติกรรมที่ประยุกต์มาแล้ว อันเนื่องด้วยว่าคนมองเห็นว่าน้ำมีคุณค่า และน้ำเป็นลักษณะที่ชุ่มเย็น เอิบอาบ และก่อให้เกิดพลังต่อการใช้น้ำ เราจึงได้ยินคำว่า น้ำใจ (เมตตา) น้ำคำ (ปิยวาจา) น้ำอดน้ำทน (ขันติ) น้ำหนึ่งน้ำใจเดียวกัน (สมานฉันท์-สามัคคี) น้ำพักน้ำแรง (วิริยะ-ความเพียร) ซึ่งเมื่อให้ความหมายง่าย ๆ คือคนไทยให้ความสำคัญกับน้ำ ต่อชีวิตทั้งในเชิงกายภาพร่างกายและในเชิงจิตใจการยอมรับเพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคม ดังนั้นในสถานการณ์น้ำท่วม ส่งที่สำคัญที่สุดคือการปรับความสมดุลทางความคิดเพื่อใช้ชีวิตอยู่กับน้ำอย่างมีความสุข หลักการทางพระพุทธศาสนา มีวิธีการดังนี้ คือ


วิธีที่ ๑ ปรับทัศนคติ “น้ำเป็นแม่ ไม่ใช่เป็นน้อง”

น้ำเป็นจุดกำเนิดของอารยธรรม วิถีชีวิต และการคงอยู่ของเผ่าพันธุ์มนุษย์ เราจึงได้ยินอารยธรรมลุ่มแม่น้ำไนล์ แม่น้ำสินธุ แม่น้ำฮวงโห หรือแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นต้น ด้วยสภาพสำคัญดังกล่าวน้ำจึงถือเป็น “ผู้กำให้เนิด” การมองธรรมชาติของอดีตต่อความสำคัญน้ำจึงเป็น “แม่” ผู้ให้กำเนิด ที่มีความสำคัญ ที่ต้องให้ค่าในฐานะสิ่งที่มีคุณค่าเป็นจุดกำเนิด และคติคนไทยก็เรียกสิ่งที่ให้กำเนิดด้วยความนอบน้อมและยกย่อง ดังเช่นแม่พระธรณี แม่โพสพ รวมถึง “แม่น้ำ” ซึ่งหมายถึงผู้ให้กำเนิด สร้างสรรค์ ต่อพลังแห่งอารยธรรมของชีวิต


วิธีการที่ ๒ มีความกตัญญู

ในวัฒนธรรมแห่งสังคมไทย ซึ่งถือว่ามีอิทธิพลจากพระพุทธศาสนา ความกตัญญูรู้คุณและกตเวทีตอบแทนคุณ ถือว่ามีความสำคัญมากต่อการใช้ชีวิต ในการอยู่ร่วมกัน น้ำ จึงถือว่าเป็นผู้ให้กำเนิดที่เป็นส่วนสำคัญที่วิถีทางศาสนาให้ความสำคัญ แสดงความเคารพ และแสดงความกตัญญู

ในวิถีของคนไทยที่ได้รับอิทธิพลจากความเชื่อทางพระพุทธศาสนา มองว่า การแสดงความกตัญญูเป็นสิ่งที่สำคัญและมีผลเป็นคุณค่าไม่น้อย กล่าวคือ


กตัญญูรู้คุณ หมายถึง การให้ค่า หรือการให้คุณค่า สิ่งใด ๆ ที่มนุษย์ให้คุณค่า ก็จะได้รับการยอมรับปฏิบัติด้วยดี ชี้ให้เห็นง่าย ๆ ถ้าเรามองว่าน้ำสำคัญ ก็ต้องมีวิธีการจัดการน้ำอย่างรู้คุณค่า กล่าวคือ (ก) จัดการทางน้ำให้ไหลสะดวก เรียกว่าไม่ขัดขวาง จัดการคูคลองเพราะเห็นความสำคัญหรือคุณค่าของน้ำ (ข) ไม่ทำลายทรัพยากรต้นไม้ ป่าต้นน้ำที่จะเป็นตัวซับน้ำ ไม่ให้น้ำที่มีตัวกัน ให้ไหลลงช้า ๆ เพราะมีกำแพงแนวซับธรรมชาติ อันเป็นเหตุของน้ำท่วมได้อย่างหนึ่ง (ค) ไม่ทำลายคุณค่าของน้ำให้เป็นความเสียหาย เช่น การปล่อยของเสีย ทิ้งขยะให้กลายเป็นมลพิษ ซึ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าได้ประการหนึ่งก็คือเพราะเราไม่ได้รักษาแหล่งน้ำให้เป็นพื้นที่ที่สะอาด ทำให้แหล่งน้ำกลายเป็นสมบัติของทุกคน จึงจะถือว่ากตัญญูรู้คุณในการช่วยกันรักษา เมื่อเกิดน้ำท่วมจึงเห็นได้ว่าแหล่งน้ำถูกทำลาย ให้เกิดการเน่าเสีย ไม่ได้รับการดูแลจากผู้ใช้ น้ำนั้นจึงให้โทษเน่าเสีย ส่งกลิ่นเหม็นเพราะการหมักหมมอย่างยาวนาน


วิธีการที่ ๓ การเข้าใจความจริงของธรรมชาติ


ธรรมชาติของน้ำย่อมไหลลงสู่ที่ต่ำ ก็แปลว่าเป็นธรรมชาติของน้ำที่ต้องไหล่จากเบื้องบนลงสู่ที่ต่ำ และในที่ต่ำต้องไม่ถูกขวางให้ได้รับความไม่สะดวก แปลว่าที่ผ่านมาดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ตรัสว่า เราไปสร้างขวางทางน้ำ จะตีความได้หรือไม่ว่า เราเข้าไปฝืนหรือแซกแทรงธรรมชาติ ทำให้เราไม่เข้าใจธรรมชาติของน้ำ พุทธศาสนามี แปลง่าย ๆ คือมีธรรมชาติของการเกิดขึ้น ถึงมนุษย์แทรกแซง หรือไม่ก็ตามสิ่งเหล่านี้ก็จะยังเกิดขึ้นไม่เปลี่ยนแปลงอยู่อย่างนั้น (อุตุนิยาม) สภาพดินฟ้าอากาศ น้ำ ลม ไฟ มีสภาพของการเกิดขึ้นเปลี่ยนแปลงอย่างไม่เป็นที่สิ้นสุด (ธรรมนิยาม) ที่แปลว่ามีสภาพที่เป็นไปตามธรรมชาติไม่มีอำนาจบังคับบัญชาได้ จะเห็นได้ว่ารัฐบาลและผู้มีส่วนต่อการบริหารจัดการน้ำ พยายามอย่างยิ่งยวด จะเปลี่ยนทางน้ำ ผันทางน้ำ แต่น้ำมีสภาพไหลลงที่ต่ำมีเงื่อนไขที่ยากต่อการที่จะบังคับบัญชาได้ จึงแปลได้ว่ามนุษย์ควรเรียนรู้ธรรมชาติ และบริหารจัดการธรรมชาติอย่างเหมาะสม มิใช่เข้าไปบังคับ บัญชาขู่เข็ญ เช่นที่ผ่านมา ดูในภาพรวมเหมือนกระทำได้ แต่จริง ๆ แล้วหาเป็นเช่นนั้นไม่ จึงกลายเป็นว่า


วิธีการที่ ๔ ทำจิตให้เสมอเหมือนกับน้ำ

การปรับความสมดุลของจิตให้เหมือนน้ำเป็นสิ่งสำคัญ น้ำมีลักษณะของการไหลลงสู่ที่ต่ำ มีลักษณะซุ่มเย็น เข้าปรับตัวได้ดี ดังนั้นการนำลักษณะของน้ำมาปรับให้เกิดความสมดุลทางความคิด ก็จะมีผลต่อการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับน้ำได้

ดังที่ พระพุทธองค์เคยตรัสสอนเป็นพุทธพจน์แก่พระราหุล (พระโอรสของเจ้าชายสิทธัตถะ เป็นสามเณรรูปแรก จนกระทั่งบวชเป็นพระ ชื่อว่า พระราหุล) ว่า

“...ราหุล! เธอจงทำจิตให้เหมือนน้ำเถิด เมื่อเธอทำจิตให้เหมือนน้ำแล้ว จะไม่เกิดความชอบหรือความชังครอบงำจิตได้ ราหุล! เปรียบเหมือนคนทั้งหลาย ล้างของหรือทิ้งของที่สะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้างลงในน้ำ น้ำจะอึดอัดระอาหรือรังเกียจด้วยของนั้นๆ ก็หาไม่ ฉันใด? ราหุล เธอจงทำจิตให้เสมอด้วยน้ำฉันนั้นแล เมื่อกระทบอารมณ์แล้ว ความชอบและความชังจะไม่สามารถครอบงำจิตเธอได้ ฉันนั้น...” (มหาราหุโลวาทสูตร ๑๓/๑๒๖)

ดังนั้นโดยความหมายนี้คือการปรับความสมดุลให้เกิดขึ้นในฐานะชีวิตมนุษย์คนหนึ่ง จะกระทำได้ กล่าวคือความสมดุลเหล่านี้มีผลเป็นการอยู่รวมกันอย่างมีความสุข พระพุทธศาสนาสอนหลักของความสมดุล และในความสมดุลนี้ สิ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันก็คือ ความสมดุลของชีวิต น้ำไม่ได้เลือกว่าจะท่วมคนรวย คนจน ไม่ได้เลือกที่จะไปที่ใด ไม่ไปที่ใด ธรรมชาติของน้ำไหลลงสู่ที่ตำ มีทางออกทะเล รวมกันที่ปลายทางของน้ำทั้งสิ้น ด้วยสภาพดังกล่าวจึงเป็นปรากฏการณ์ของน้ำ พุทธศาสนาเอาน้ำมาเทียบกับจิตว่าอย่าให้ไหลลงสู่ที่ต่ำ เพราะถ้าเมื่อไหร่เป็นอย่างนั้น ก็จะแปลว่า น้ำจะกลายเป็นพลังของการทำลาย เหมือนจิตคนไหลลงสู่ที่ต่ำก็จะมีพลังของการทำลายสูงด้วยเช่นกัน

อนันตริยกรรม

อนันตริยกรรม สารานุกรมเสรีอนันตริยกรรม หมายถึง กรรม หนักที่สุด (ครุกรรม) ฝ่ายบาปอกุศล ซึ่งให้ผลทันที มี 5 อย่าง คือ มาตุฆาต - ฆ่ามารดา ปิตุ...