วันพฤหัสบดีที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2561

ความเป็นมาของภาษาบาลี



พิธีมอบทุนการศึกษาภาษาบาลี
ความเป็นมาของภาษาบาลี
ผู้ที่เข้ามาศึกษาพระปริยัติธรรมนี้ ส่วนใหญ่เป็นพระภิกษุสามเณรผู้มีศรัทธาที่ได้เข้ามาบรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา บุคคลที่เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาแล้วมีภารกิจที่ต้องทำสองประการ คือ
ประการแรก ได้แก่ 
คันถธุระ การศึกษาพระธรรมวินัยซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนไว้ การศึกษาชนิดนี้เน้นภาคทฤษฎี และ
ประการที่สอง คือ วิปัสสนาธุระ การเรียนพระกรรมฐานโดยเน้นลงไปที่การปฏิบัติทางกายวาจาและใจ
การศึกษาที่เรียกว่า “คันถธุระ” นั้น ในสมัยที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่นั้น พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนสาวกเป็นประจำทุกวันด้วยการแสดงพระธรรมเทศนา คำสั่งสอนที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงนั้น ทรงแสดงด้วยพระโอฐตามที่พระองค์จะทรงโปรดประทานพระสัทธรรมเทศนาแก่พุทธบริษัทซึ่งมีเป็นประจำทุกวัน ผู้ที่ฟังก็มีทั้งพระภิกษุสงฆ์และคฤหัสถ์ สำหรับพระภิกษุสงฆ์นั้น เมื่อได้ฟังพระสัทธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าแล้วก็นำมาถ่ายทอดแก่สัทธิวิหาริกและอันเตวาสิกต่อกันไป การศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้านี้เรียกว่า คันถธุระ หรือการศึกษาพระปริยัติธรรม ซึ่งมี 9 ประการ เรียกว่า “นวังคสัตถุศาสน์” แปลว่า คำสอนของพระศาสดามีองค์เก้า ซึ่งได้แก่ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม และเวทัลละ
พระปริยัติธรรม หรือ นวังคสัตถุศาสน์นี้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงด้วยภาษาบาลี เพราะในสมัยนั้น ประเทศอินเดียมีภาษาหลักอยู่ 2 ตระกูล คือ ภาษาปรากฤต และ ภาษาสันสกฤต
ภาษาปรากฤตแบ่งย่อยออกเป็น 6 ภาษา คือ
1. ภาษามาคธี ภาษาที่ใช้พูดกันอยู่ในแคว้นมคธ
2. ภาษามหาราษฎร์ ภาษาที่ใช้พูดกันอยู่ในแคว้นมหาราษฎร์
3. ภาษาอรรถมาคธี ภาษากึ่งมาคธี เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ภาษาอารษปรากฤต
4. ภาษาเศารนี ภาษาที่ใช้พูดกันอยู่ในแคว้นศูรเสน
5. ภาษาไปศาจี ภาษีปีศาจ หรือภาษาชั้นต่ำ และ
6. ภาษาอปภรังศ ภาษาปรากฤตรุ่นหลังที่ไวยากรณ์ได้เปลี่ยนไปเกือบหมดแล้ว
ภาษามาคธี หรือ ภาษามคธ เป็นภาษาที่พระพุทธเจ้าทรงใช้สั่งสอนประชาชน ครั้นต่อมาพระพุทธศาสนาได้มาเจริญแพร่หลายที่ประเทศศรีลังกา ภาษามาคธีได้ถูกนักปราชญ์แก้ไขดัดแปลงรูปแบบไวยากรณ์ให้กระทัดรัดยิ่งขึ้นจึงมีชื่อใหม่ว่า “ปาลี” หรือ ภาษาบาลี เป็นภาษาจารึกพระไตรปิฏกดังที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบัน
คำว่า บาลี มาจากคำว่า ปาลีซึ่งวิเคราะห์มาจาก ปาล ธาตุ ในความรักษา ลง ณี ปัจจัย ๆ ที่เนื่องด้วย ณ ลบ ณ ทิ้งเสีย มีรูปวิเคราะห์ว่า พุทธวจนํ ปาเลตีติ ปาลี แปลโดยพยัญชนะว่า ภาษาใดย่อมรักษาไว้ซึ่งพระพุทธวจนะ เพราะเหตุนั้น ภาษานั้นชื่อว่า ปาลี แปลโดยอรรถว่า ภาษาที่รักษาไว้ซึ่งพระพุทธวจนะ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าท่านจารึกไว้ในคัมภีร์ต่างๆ ด้วยภาษาบาลีซึ่งสามารถแบ่งลำดับชั้นของคัมภีร์ต่างๆ ได้ดังนี้
1. พระไตรปิฏก เป็นหลักฐานชั้นหนึ่ง เรียกว่า บาลี
2. คำอธิบายพระไตรปิฏกเป็นหลักฐานชั้นสอง เรียกว่า อรรถกถา หรือ วัณณนา
3. คำอธิบายอรรถกถา เป็นหลักฐานชั้นสาม เรียกว่า ฎีกา
4. คำอธิบายฏีกา เป็นหลักฐานชั้นสี่ เรียกว่า อนุฏีกา
5. นอกจากนี้ ยังมีหนังสือที่แต่งขึ้นภายหลังเป็นทำนองอธิบายเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่มีในคัมภีร์พระพุทธศาสนาโดยเฉพาะ หนังสือประเภทนี้ เรียกว่า “ทีปนี” หรือ “ทีปิกา” หรือ “ปทีปิกา” และหนังสือที่อธิบายเรื่องปลีกย่อยต่างๆ ที่มีในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา หนังสือประเภทนี้ เรียกว่า “โยชนา” หนังสือทั้งสองประเภทนี้จัดเป็นคัมภีร์อรรถกถา
จะเห็นได้ว่า คำสอนที่อยู่ในคัมภีร์เหล่านี้ คำสอนที่อยู่ในพระไตรปิฏกเป็นหลักฐานสำคัญที่สุด เพราะเป็นหลักฐานชั้นแรกสุด คำสอนที่อยู่ในพระไตรปิฏกนั้นมีถึง 84,000 พระธรรมขันธ์ โดยจัดแบ่งเป็น 3 หมวด คือ
- หมวดที่หนึ่ง พระวินัย ว่าด้วยเรื่อง ระเบียบ กฎ ข้อบังคับควบคุมกิริยา มารยาท ของภิกษุสงฆ์ มีทั้งข้อห้ามและข้ออนุญาต ทั้งนี้ เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในหมู่สงฆ์ มี 21,000 พระธรรมขันธ์
- หมวดที่สอง พระสูตร ว่าด้วยเรื่องราว นิทาน ประวัติศาสตร์ ที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนและทรงสนทนากับบุคคลทั้งหลายอันเกี่ยวกับชาดกต่างๆ ที่ทรงสอนเปรียบเทียบเป็นอุปมาอุปไมย เป็นต้น มี 21,000 พระธรรมขันธ์ และ
- หมวดที่สาม พระอภิธรรมว่าด้วยธรรมขั้นสูง คือ ว่าด้วยเรื่องเฉพาะคำสอนที่เป็นแก่น เป็นปรมัตถ์ ในรูปปรัชญาล้วนๆ มี 42,000 พระธรรมขันธ์
คำสอนทั้ง 84,000 พระธรรมขันธ์นั้น เรียกว่า “ธรรมวินัย” ธรรมวินัยเป็นสิ่งสำคัญมากที่สุดของชาวพุทธ เพราะถือเป็นสิ่งแทนองค์พระศาสดา ดังพุทธพจน์ที่ตรัสกับพระอานนท์ก่อนจะเสด็จดับขันธปรินิพพานว่า “ดูก่อนอานนท์ ธรรมวินัยอันใดที่เราบัญญัติไว้แล้ว แสดงแล้ว แก่เธอทั้งหลาย ธรรมะและวินัยนั้นจักเป็นศาสดาของพวกเธอเมื่อเราล่วงลับไปแล้ว” ดังนั้น กล่าวได้ว่า พระไตรปิฏกเป็นคัมภีร์ที่สำคัญมากที่สุดของชาวพุทธ
พระไตรปิฏกแต่เดิมเป็นภาษาบาลีซึ่งเป็นภาษาที่มีในมัชฌิมประเทศที่เรียกว่า แคว้นมคธ ในครั้งพุทธกาล ต่อมาพุทธศาสนาแพร่หลายไปในนานาประเทศที่ใช้ภาษาอื่น ประเทศต่างๆ เหล่านั้น มีธิเบตและจีนเป็นต้นได้แปลพระไตรปิฏกจากภาษาบาลีเป็นภาษาของตน เพื่อประสงค์ที่จะให้เรียนรู้ได้ง่าย จะได้มีคนเลื่อมใสศรัทธามาก ครั้นไม่มีใครเล่าเรียนพระไตรปิฏก ต่อมาก็ค่อยๆ สูญสิ้นไป สิ้นหลักฐานที่จะสอบสวนพระธรรมวินัยให้ถ่องแท้ได้ ลัทธิศาสนาในประเทศฝ่ายเหนือเหล่านั้นก็แปรผันวิปลาสไป
แต่ส่วนประเทศฝ่ายใต้มี ลังกา พม่า ไทย ลาว และ เขมร ประเทศเหล่านี้คิดเห็นมาแต่เดิมว่า ถ้าแปลพระไตรปิฏกเป็นภาษาอื่นโดยทิ้งของเดิมเสียแล้ว พระธรรมวินัยก็คงคลาดเคลื่อน จึงรักษาพระไตรปิฏกไว้ในเป็นภาษาบาลี
การเล่าเรียนคันถธุระก็ต้องเรียนภาษาบาลีให้เข้าใจเสียชั้นหนึ่งก่อนแล้วจึงเรียนพระธรรมวินัยในพระไตรปิฏกต่อไป ด้วยเหตุนี้เองประเทศฝ่ายใต้จึงสามารถรักษาลัทธิศาสนาตามหลักธรรมวินัยยั่งยืนมาได้ การศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมทั้งแผนกธรรมและบาลี นอกจากจะเป็นการศึกษาหลักธรรมคำสั่งสอนแล้วยังได้ชื่อว่า เป็นการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาไว้อีกด้วย โดยเฉพาะการศึกษาภาษาบาลี เพราะถ้าไม่รู้ภาษาบาลีแล้ว ก็จะไม่มีผู้ใดสามารถรู้และเข้าใจพระพุทธวจนะในพระไตรปิฏก ถ้าขาดความรู้เรื่องพระไตรปิฏกแล้ว พระพุทธศาสนาก็จะต้องเสื่อมสูญไปด้วย
ด้วยเหตุนี้ พระมหากษัตริย์ผู้เป็นศาสนูปถัมภกตั้งแต่โบราณมาจึงทรงทำนุบำรุง สนับสนุนการเล่าเรียนพระปริยัติธรรม และทรงยกย่องพระภิกษุสามเณรที่เรียนรู้พระพุทธวจนะให้มีฐานันดร พระราชทานราชูปการต่างๆ มีนิตยภัตรเป็นต้น จึงได้ทรงจัดให้มีวิธีการสอบพระปริยัติธรรมเพื่อให้ปรากฏต่อชาวโลกทั่วไปว่า พระภิกษุสามเณรรูปใดมีความรู้มากน้อยแค่ไหน เพียงไร เมื่อปรากฏว่า พระภิกษุสามเณรรูปใดมีความรู้ถึงขั้นที่กำหนดไว้ พระมหากษัตริย์ก็ทรงยกย่องพระภิกษุสามเณรรูปปั้นให้เป็น “มหาบาเรียน” ครั้นอายุพรรษาถึงชั้นเถรภูมิ ก็ทรงตั้งให้มีสมณศักดิ์ในสังฆมณฑลตามควรแก่คุณธรรมและความรู้เป็นครู อาจารย์ สั่งสอนพระปริยัติสืบๆ กันมาจนปัจจุบันนี้
ความเป็นมาของการศึกษาปริยัติธรรมแผนกบาลีศึกษา
เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๓ ในสมเด็จพระสังฆราชกิตติโสภณ สถิต ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ได้มีการประชุมระหว่างสงฆ์ไทยทั้ง ๒ นิกาย คือ มหานิกายและธรรมยุต ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ โดยมีสมเด็จพระสังฆนายก คือ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ( จวน อุฏฐายี ) วัดมกุฏกษัตริยาราม เป็นประธานต่อจากสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งเสด็จมาทรงเป็นประธานในพิธีเปิดประชุมแล้วเสด็จกลับ การประชุมในครั้งนั้นที่ประชุมได้มีมติรับหลักการให้ผู้มิใช่ภิกษุสามเณรสอบบาลีได้
ครั้นเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๖ ที่ประชุมกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัย ฝ่ายบรรพชิต โดยมีสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ทรงเป็นนายกกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัย และนายกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัยได้อนุมัติให้มีการสอบบาลีศึกษา สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระภิกษุสามเณรโดยใช้หลักสูตรเหมือนการสอบเปรียญธรรมของคณะสงฆ์และให้เรียกว่าบาลีศึกษาชั้นประโยค ๓-๙ สำหรับผู้ที่สอบได้ในชั้นประโยคนั้น ๆ โดยให้เป็นหน่วยงานด้านการศึกษา ของมหามกุฏราชวิทยาลัย เช่นเดียวกับสภาการศึกษา ฯ ดังกล่าวแล้ว
ในเบื้องต้น การสอบบาลีศึกษา ตั้งต้นที่ชั้น ประโยค 3 (คือรวมหลักสูตรประโยค 1-2 และประโยค ป.ธ. 3 ของพระภิกษุมาเป็นการศึกษาชั้นแรกของบาลีศึกษา) จนถึงชั้นประโยค บ.ศ. 9 (แต่ในปัจจุบัน ได้ปรับให้เหมือนการศึกษาของพระภิกษุมากขึ้น คือ มีการสอบชั้นประโยค 1-2 ด้วย) โดยให้เป็นหน่วยงานด้านการศึกษา ของมหามกุฏราชวิทยาลัย เช่นเดียวกับ สภาการศึกษา ฯ ดังกล่าวแล้ว
แต่ทว่าในทางปฏิบัติจะจัดมอบให้เฉพาะผู้ที่เป็นแม่ชี สำหรับหญิงที่ไม่ใช่แม่ชี ไม่มีการมอบพัดเกียรติยศให้ในชั้น บ.ศ. 3 และ บ.ศ. 6 คงมอบให้เพียงในชั้น บ.ศ. 9 เพียงชั้นเดียว
ปัจจุบันมีแม่ชีและอุบาสิกา (หญิงที่มิใช่แม่ชี) จบการศึกษาชั้น บ.ศ. 9 แล้วจำนวน 16 ท่าน เป็นแม่ชี 15 ท่าน และอุบาสิกาที่มิใช่แม่ชี 1 ท่าน
เนื่องจากในแต่ละปีมีผู้สมัครเข้าสอบไม่มากนัก สนามสอบจึงจัดขึ้นเพียงแห่งเดียว ต่างจากการสอบบาลีสนามหลวงของพระภิกษุสามเณรที่มีสนามสอบหลายแห่งทั่วประเทศและทั่วภูมิภาคในชั้นต้น ส่วนชั้นสูงจัดสอบสนามส่วนกลางในกรุงเทพมหานคร
ดังนั้นสภาการศึกษา ฯ (ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ รัฐบาลไทยได้ออกกฎหมายรับรองสถานภาพของมหาวิทยาลัย สภาการศึกษา ฯ จึงได้ชื่อใหม่ว่ามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย) จึงต้องรับภาระในเรื่องนี้มาจนถึงปัจจุบัน โดยเป็นผู้จัดสอบ ออกข้อสอบ ออกประกาศนียบัตร โดยใช้ตราของสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ตลอดจนการมอบพัดให้
การศึกษาพระบาลีของผู้ไม่ใช่พระภิกษุเป็นเรื่องที่น่าศึกษา หากพระภิกษุสามเณรไม่ศึกษาภาษาบาลี ต่อไปในอนาคต พระภิกษุอาจจะต้องศึกษาบาลีจากแม่ชีก็ได้
สำหรับผู้ที่สนใจการศึกษาบาลีศึกษา ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่มหามกุฏราชวิทยาลัย วัดบวรนิเวศวิหาร หรือที่สถาบันแม่ชีไทย ฯ ในวัดบวรนิเวศวิหาร บางลำภู กรุงเทพมหานคร


การศึกษาพระปริยัติธรรมตามหลักสูตรบาลี

ในปัจจุบันมีผู้เรียนอยู่ ๒ กลุ่มหลัก คือ
๑. พระภิกษุสามเณร สำหรับกลุ่มแรกฝ่ายรับผิดชอบในการจัดสอบ ซึ่งเรียกว่า “ สอบบาลีสนามหลวง” คือกองบาลีสังกัดแผนกบาลีในปัจจุบัน สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปญฺโญ ) ดำรงตำแหน่งแม่กองบาลี หลักสูตรการศึกษาแบ่งออกเป็น ๙ ประโยค เรียกว่าเปรียญธรรม เขียนย่อว่า ป.ธ. เช่นพระภิกษุสามเณรที่สอบไล่ได้ ประโยค ๖ ก็เขียนว่า ป.ธ. ๖ ถ้าสอบไล่ได้ ป.ธ. ๙ เป็นต้น ในปี พ.ศ. ๒๕๒๗ ได้มีพระราชบัญญัติกำหนดให้ผู้สอบผ่าน ป.ธ. ๙ มีวิทยฐานะชั้นปริญญาตรี
๒. ผู้มิใช่ภิกษุสามเณร สำหรับการศึกษาของกลุ่มที่ ๒ เรียนว่าบาลีศึกษา ใช้ตัวย่อว่า บ.ศ. เช่นบาลีศึกษา ๙ ประโยค เขียนย่อว่า บ.ศ. ๙ ผู้รีบผิดชอบในการจัดสอบบาลีศึกษา ของกลุ่มนี้ คือ สภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ยังไม่ปรากฏว่าได้มีพระราชบัญญัติกำหนดให้ผู้สอบ บ.ศ. ๙ มีวิทยฐานะชั้นปริญญาตรี แต่ทั้งมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยและมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยก็รับผู้จบ บ.ศ. ๙ เข้าเรียนต่อในระดับปริญญาโทแล้ว แต่กรมศาสนายังไม่มีการรับรองวิทยฐานบาลีศึกษาของแม่ชีเหมือนกับพระสงฆ์สามเณร
ทั้งสองกลุ่มนี้เรียนตามหลักสูตรเดียวกัน

วัตถุประสงค์ในการจัดสอบบาลีศึกษาให้แก่ผู้ที่มิใช่พระภิกษุสามเณรที่สำคัญ

๑. เพื่อส่งเสริมให้มีการศึกษาบาลีกันอย่างกว้างขวางในหมู่พุทธศาสนิกชนทั่วไป เพื่อให้สามารถแปลคัมภีร์พระพุทธศาสนา เช่น พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา เป็นต้น ได้กว้างขวางกว่าสมัยก่อน
๒. เพื่อความมั่นคงของพระพุทธศาสนา การศึกษาภาษาบาลีย่อมเป็นการศึกษาพระพุทธศาสนาโดยตรงนั่นเอง เมื่อพุทธศาสนิกชนมีความรู้ความเข้าใจพระธรรมคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้องถ่องแท้ ย่อมสามารถช่วยกันรักษาสืบทอดและพัฒนาพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองสืบไป
๓. เพื่อทดแทนจำนวนพระภิกษุสามเณรที่ลดลง ตามสถิติปรากฏว่าในปัจจุบันความนิยมในการเรียนการสอบบาลีของพระภิกษุสามเณรลดลง จึงควรส่งเสริมผู้มิใช่พระภิกษุสามเณรเรียนบาลีกัน มิฉะนั้นผู้รู้บาลีจะลดลงเรื่อย ๆ ย่อมเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของพระพุทธศาสนา
มีข้อน่าสังเกตช่วงระยะเวลาอันยาวนานถึง ๔๘ ปี นับตั้งแต่มีการสอบบาลีศึกษาในปี พ.ศ. ๒๕๐๖ เป็นต้นมา มีผู้สอบผ่านประโยคสูงสุด คือ บ.ศ. ๙ ได้เพียง ๒๔ รูปเท่านั้น นับว่ายังไม่บรรลุวัตถุประสงค์ที่คณะกรรมการได้ตั้งไว้ ดังนั้นจึงควรมีการส่งเสริมการเรียนบาลีศึกษากันให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มแม่ชี เพื่อเป็นการบุคคลากรและวิทยากรทางพระพุทธศาสนาให้มากยิ่งขึ้น อันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศไทยเอง
กลับสู่ด้านบน

หลักสูตรการศึกษาบาลีในปัจจุบัน

หลักสูตรการศึกษาพระปริยัติธรรม แบ่งออกเป็น ๙ ระดับ ในปัจจุบันได้กำหนดวิชาและหนังสือเรียนไว้ดังนี้ คือ

ประโยค 1-2 และเปรียญตรีปีที่ 1-2 หมวดบาลีศึกษา

๑. วิชาแปลมคธเป็นไทย โดยพยัญชนะและโดยอรรถ หลักสูตรใช้หนังสือ ธมฺมปทฏฺฐกถา ภาค ๑ ถึงภาค ๔
๒. วิชาบาลีไวยากรณ์ หลักสูตร ใช้หนังสือบาลีไวยากรณ์ ประเภทสอบถามความจำ

ประโยค ป.ธ. ๓

๑. วิชาแปลมคธเป็นไทย โดยพยัญชนะและโดยอรรถ หลักสูตรใช้หนังสือ ธมฺมปทฏฺฐกถา ภาค ๕ ถึง ภาค ๘
๒. วิชาสัมพันธ์ไทย หลักสูตรใช้หนังสือ ธมฺมปทฏฺฐกถา ภาค ๕ ถึง ภาค ๘
๓. วิชาบาลีไวยากรณ์ หลักสูตรใช้หนังสือบาลีไวยากรณ์ ประเภทสอบถามความจำและความเข้าใจประกอบกัน

๔. วิชาบุรพภาค ข้อเขียนภาษาไทย โดยแก้ไขให้ถูกต้องตามระเบียบลักษณะ วรรคตอน ตัวอักษร ตามสมัยนิยม หลักสูตรใช้หนังสือที่ควรรู้ เช่น จดหมายทางราชการ

ประโยค ป.ธ. ๔

๑.วิชาแปลไทยเป็นมคธ หลักสูตรใช้หนังสือธมฺมปทฏฺฐกถา ภาค ๑
๒. วิชาแปลมคธเป็นไทยหลักสูตรใช้หนังสือมงฺคลตฺถทีปนี ภาค ๑

ประโยค ป.ธ. ๕

๑. วิชาแปลไทยเป็นมคธ หลักสูตรใช้หนังสือธมฺมปทฏฺฐกถา ภาค ๒ ถึง ภาค ๔
๒. วิชาแปลมคธเป็นไทย หลักสูตรใช้หนังสือมงฺคลตฺถทีปนี ภาค ๒

ประโยค ป.ธ. ๖

๑. วิชาแปลไทยเป็นมคธ หลักสูตรใช้หนังสือธมฺมปทฏฺฐกถา ภาค ๕ ถึงภาค ๘ แต่ในการสอบ กรรมการจะแปลประโยคที่ออกสอบเป็นความไทยโดยสันทัด หรืออาจดัดแปลงสำนวนและท้องเรื่อง
หรือตัดตอนที่ต่าง ๆ มาเรียงติดต่อกันเป็นประโยคสอบไล่ก็ได้

๒. วิชาแปลมคธเป็นไทย หลักสูตรใช้หนังสือ ตติย-จตุตฺถ-ปญฺจม-สมนฺตปาสาทิกา
หมายเหตุ แต่ในการสอบกรรมการจะแปลประโยคที่ออกสอบเป็นความไทยโดยสันทัด หรืออาจดัดแปลงสำนวน  และท้องเรื่อง หรือตัดตอนที่ต่างๆ มาเรียงติดต่อกันเป็นประโยค สอบไล่ก็ได้

ประโยค ป.ธ. ๗

๑. วิชาแปลไทยเป็นมคธ หลักสูตรใช้หนังสือมงฺคลตฺถทีปนี ภาค ๑
๒. วิชาแปลมคธเป็นไทย หลักสูตรใช้หนังสือปฐม-ทุติย-สมนฺตปาสาทิกา

ประโยค ป.ธ. ๘

๑. วิชาแต่งฉันท์มคธ แต่งฉันท์เป็นภาษามคธ ๓ ฉันท์ในจำนวน ๖ ฉันท์
(1) ปัฐยาวัตร (2) อินทรวิเชียร (3) อุเปนทรวิเชียร (4) อินทรวงศ์ (5) วังสัฏฐะ (6) วสันตดิลก

หมายเหตุ ข้อความแล้วแต่กรรมการจะกำหนดให้
๒. วิชาแปลไทยเป็นมคธ หลักสูตรใช้หนังสือ ปฐมสมนฺตปาสาทิกา
๓. วิชาแปลมคธเป็นไทย หลักสูตรใช้หนังสือวิสุทฺธิมคฺค

ประโยค ป.ธ. ๙

๑. วิชาแต่งไทยเป็นมคธ แต่งมคธจากภาษาไทยล้วน ข้อความแล้วแต่กรรมการจะกำหนดให้
๒. วิชาแปลไทยเป็นมคธ หลักสูตรใช้หนังสือ วิสุทฺธิมคฺค
๓. วิชาแปลมคธเป็นไทย หลักสูตรใช้หนังสืออภิธมฺมตฺถวิภาวินี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

อนันตริยกรรม

อนันตริยกรรม สารานุกรมเสรีอนันตริยกรรม หมายถึง กรรม หนักที่สุด (ครุกรรม) ฝ่ายบาปอกุศล ซึ่งให้ผลทันที มี 5 อย่าง คือ มาตุฆาต - ฆ่ามารดา ปิตุ...